คลังดึงประกันฯหนุนเศรษฐกิจ-อุ้มคุณภาพชีวิตไทย
คลังหวังดึงศักยภาพและฐานการเงินอุตฯประกันภัย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ชดเชยส่งออกที่โดนพิษเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า พร้อมใช้ระบบประภัยภัย “สุขภาพ-อุบัติเหตุ” มาช่วยยกคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน เผยกลุ่มถือบัตรสวัสดิการฯมีโอกาสได้รับก่อนกลุ่มอื่น
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวกล่าวภายหลังเปิดงาน “สัปดาห์ประกันภัย ประจำปี 2562” ว่า รัฐบาลอยากเห็นอุตสาหกรรมประกันภัย ที่มีสินทรัพย์รวมและเบี้ยประกันภัยรับตรงขนาดใหญ่ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมยกระดับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับ e Payment และอีกหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เทคโนโลยี ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมประกันภัยเอง ก็กำลังมุ่งสู่ความเป็นดิจิทัล (Insurtech) ควรเข้ามาร่วมกับรัฐบาลในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมประกันภัยยังมีบทบาทที่สำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ได้รับการดูแลในเรื่องสวัสดิการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งๆ ขึ้น โดยเบื้องต้น ตนได้หารือกับเลขาธิการ คปภ. ซึ่งแนวทางการทำงานร่วมกันในการนำระบบประกันภัยไปสู่คนไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในแง่ของการประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ โดยอาจขยายผลไปยังกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีจำนวนผู้ถือบัตรมากถึง 14.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน
“ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก จำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งมีสินทรัพย์รวมและเบี้ยประกันภัยรับตรงที่ใหญ่ ก็น่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้อย่างมาก” รมว.คลัง ย้ำ
ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมประกันภัยมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกของปี 62 พบว่า อุตสาหกรรมมีเบี้ยประกันภัยรับตรงสูงถึงกว่า 4.14 แสนล้านบาท แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตเกือบ 3 แสนล้านบาท และอีกว่า 1.14 แสนล้านบาทเป็นเบี้ยประกันวินาศภัย โดยในส่วนของระบบการประกันภัยของไทย ได้รับการจัดอันดับจากสถาบันการจัดอันดับประกันภัยต่างประเทศ ให้อยู่ในอันดับที่ 3 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของอาเซียน สะท้อนว่า ระบบประกันภัยของไทยมีมาตรการการดำเนินงานอยู่ในระดับสากลที่สังคมโลกให้การยอมรับ โดยการจัดงาน “สัปดาห์ประกันภัย ประจำปี 2562” เกิดขึ้นภายใต้ธีม “Health Insurance without Boundaries : InsurTech Connect พลิกโฉมประกันสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีประกันภัย” นอกจากนี้ ยังมี “พิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร” (Prime Minister’s Insurance Awards)
“อนาคตของธุรกิจประกันภัยจะขึ้นอยู่กับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการประกันภัย ด้วยผลิตภัณฑ์และราคาที่จับต้องได้ จึงอยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนในธุรกิจนี้ ตั้งเป้าหมายร่วมกันในการใช้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มากที่สุด และเอามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคตั้งแต่ระดับผู้มีรายได้น้อยไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ให้ได้ บางครั้งผู้บริโภคก็อาจไม่ทราบความต้องการของตัวเอง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของธุรกิจประกันภัยที่จะหานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปนำเสนอ ซึ่งหากมีการนำการประกันภัยและเทคโนโลยี มาผนวกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตของประชาชน เช่น การเอาความคุ้มครองและเบี้ยประกันภัยไปเชื่อมกับข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์ wearable device ซึ่งเก็บข้อมูลเกี่ยวสุขภาพ และสามารถสร้างแรงจูงใจให้คนปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ.ย้ำ
ทั้งนี้ งานสัปดาห์ประกันภัยปีนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเห็นได้จากมีผู้สนใจเข้าร่วมงานวันแรกทั้งในส่วนของพิธีเปิดงานสัปดาห์ประกันภัยและพิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่น บริเวณห้องฟินิกซ์และบริเวณฮอลล์ 5 ซึ่งเป็นพื้นที่ออกบูธของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เป็นไปอย่างคึกคัก และในโอกาสที่เปิดกิจกรรมวิชาการจึงได้บรรยายภายใต้หัวข้อ “Health Insurance Reformation and RegTech Rising”
เลขาธิการ คปภ. ย้ำว่า ท่ามกลางโอกาสยังมีความท้าทายสำหรับธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะการประกันสุขภาพ Data-driven คือหัวใจของการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการขับเคลื่อน จะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้มากขึ้น สามารถคัดกรองแต่ข้อมูลที่จำเป็นและนำไปประมวลผลเพื่อได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกระบวนการพิจารณารับประกันและคำนวณเบี้ยประกัน และออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าสูงสุด โดยสามารถแปลง Big data ให้กลายเป็น Meaningful Small data… Small but meaningful ที่ทำให้บริษัทประกันภัยเข้าใจและเข้าถึงความต้องการและความจำเป็นของลูกค้าได้อย่างแท้จริง
โดยขณะนี้อุตสาหกรรมประกันภัยไทยต้องเผชิญกับบททดสอบใหม่ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงิน ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงต้องเดินหน้า Transform สู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และทำให้ปี 63 เป็นปีแห่งการส่งเสริมและการกำกับอย่างสมดุล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างแท้จริง โดยหลักการในการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. คือ กำกับดูแลเท่าที่จำเป็นและมีนโยบายในการส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยในลักษณะ proactive โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัยใหม่ๆ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยเป็นสำคัญ
อนึ่ง งานสัปดาห์ประกันภัย ปี 2562 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 ก.ย.562 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี งานนี้ไม่ควรพลาด..! เพราะมางานเดียว ทั้งคุ้ม ทั้งครบ จบในที่เดียว เรื่องประกันภัย.