เส้นทางประชามติ…กว่าจะถึง 7สิงหา
ชัดเจนอย่างเป็นทางการแล้วว่า “ วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559” เป็นวันที่คนไทยจะได้ก้าวเข้าสู่ช่วงปลายของโรดแมพระยะที่ 2 ของคสช.
คือการ ไปหย่อนบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจาก 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันออกเสียงประชามติ
ซึ่งสาระหลักของประกาศของกกต.ฉบับนี้ มี 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. ให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เลือกว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
และ2. ให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในประเด็นเพิ่มเติมหรือคำถามพ่วง ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ถามว่า ….
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
แปลความเฉพาะข้อ2 ง่ายๆ คือ เห็นชอบหรือไม่ว่า ถ้า 5 ปีแรก ของรัฐสภาชุดแรกหลังการเลือกตั้งที่จะถึง จะมีสภาผู้แทนฯ+วุฒิสภา เป็นคนให้ความเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในสาระ 2 ข้อในประกาศนี้ ใช่ว่าเส้นทางกว่าจะถึงวันลงประชามติ 7 สิ.ค. ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือถ้าโรยกลีบกุหลาบก็เผลอทิ้งหนามกุหลาบไว้เป็นระยะๆ
และหนามบนเส้นทางประชามติที่คสช.จับตาอย่างมากเพราะมีความเคลื่อนไหวเห็นเด่นชัดที่สุดช่วงนี้คือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มการเมืองอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ “วัฒนา เมืองสุข” และ “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” ที่เป็นฝ่ายเห็นต่างจากคสช.มาตั้งแต่ต้น และถูกเชิญตัว ควบคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติมาแล้วหลายรอบ แต่ทว่าก็ยังออกมารณรงค์ ไม่เอารัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอำนาจเผด็จการ
ซึ่งหากจะมองแบบผิวเผิน ก็อาจจะมองได้ว่า นี่คงเป็นความเคลื่อนไหวตามปกติของฝ่ายที่คัดค้านคสช.อยู่แล้ว แต่ถ้าจะมองให้ลึกเข้าตามบริบทที่เข้าสู่โหมดของประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วละก็ นี่คือ “ยกแรก” ของเกมแห่งอำนาจ
เป็นยกแรกที่จะนำสู่ยกต่อไปที่ฝ่ายความมั่นคงเองเองก็จับตามาตลอด และระวังจะไม่ให้มียกต่อไปจนร่างรัฐธรรมนูญถูกน็อค เพราะประเมินแล้วถ้าไม่จัดการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมกับระดับแกนนำตั้งแต่ยกแรก ยกต่อไปจะเหนื่อยมาก หากกระแสคว่ำประชามติถูกจุดติด แล้วมีมวลชนออกมามากขึ้น งานจะเข้าเสียง่ายๆ
แต่การตัดไฟแต่ต้นลมของคสช.เอง มองให้ลึกก็จะเห็นการระมัดระวังพอสมควร ดูได้จากการ “จับแล้วรีบปล่อย” ไม่ควบคุมตัวนานจนเกิดกระแสปลุกมวลชนให้อารมณ์โกรธคูณสอง ไม่งั้นจะยุ่งไปกันใหญ่
ที่กล่าวนี่แค่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง 2 กลุ่ม ที่ยังไม่นับรวมถึงหนามกุหลาบจากพรรคการเมืองอีกตั้งกี่พรรค นักการเมืองอีกตั้งกี่คน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอ ภาคประชาชน ที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ทว่ายังไม่แสดงความเห็นออกมาอย่างเต็มที เพราะเขายังรอเวทีแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจากกกต.
และถ้ากกต.จัดเวทีออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่น่าติดตามต่อคือการออกไปหาเวทีหรือพื้นที่ของตัวเองเพื่อแสดงความเห็น สุ่มเสี่ยงในการทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่บอกได้เลยว่า กว่าจะถึงวันที่ 7 สิงหา ยังมีอะไรอีกเยอะ “งานนี้มีเหนื่อย”