ชี้ภาครัฐบูรณาการช่วยเหลือเหตุอุทกภัย
คลังแจงรัฐบาลพร้อมบูรณาการความช่วยเหลือให้ผู้ประสบอุทกภัย ผ่าน 7 หน่วยงานหลักของรัฐ ครอบคลุมคนเป็น คนตาย บ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ และสัตว์เลี้ยง
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุกทกภัย ทั้งในส่วนของรัฐบาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง แยกเป็นความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
1.สำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย กรณีเสียชีวิต ทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินค่าจัดการศพรายละ 50,000 บาท กรณีบ้านเรือนเสียหาย จ่ายเป็นค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน หากเสียทั้งหลังจะได้รับเงินหลังละไม่เกิน 230,000 บาท หากเสียหายมาก ได้รับเงินไม่เกิน 70,000 บาท และเสียหายเล็กน้อย ได้รับเงินไม่เกิน 15,000 บาท
2.กระทรวงการคลัง ผ่านธนาคารออมสิน กับมาตรการผ่อนปรนชำระหนี้ให้ลูกค้าทุกประเภท รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อ SMEs วงเงินกู้ไม่เกิน 50 ล้านบาท, มาตรการให้กู้ซ่อมแซมบ้านเรือน และมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับมาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้, มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกร ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ กับโครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กับมาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา และมาตรการวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ และผ่านธนาคารกรุงไทย กับมาตรการผ่อนปรบเงื่อนไขการชำระหนี้
3.กระทรวงสาธารณสุข ด้วยการจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ รวม 401 ทีม พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังมายังจุดพักพิงและจัดเวชภัณฑ์ดูแล, ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งในระหว่างน้ำท่วมและหลังน้ำลด, จัดอาสาสมัครสาธารณสุข ส่งยาแจกจ่ายให้ผู้ป่วยในพื้นที่ และดูแลภาวะสุขภาพจิต จัดหาสุขาเคลื่อนที่ และเก้าอี้สำหรับพิการ
4.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับมาตรการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัว, จัดตั้งจุดพักพิง, จัดกิจกรรมนันทนาการคลายเครียด อาชีวะบำบัดและจัดตั้งโรงครัว รวมถึงรวมกับเครือข่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
5.กระทรวงมหาดไทย ผ่านการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตการณ์จังหวัด และคณะทำงานติดตามสถานการณ์, จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น
6.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แยกเป็นระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย การดำเนินงานผ่านกรมชลประทาน ที่ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ, ผ่านกรมปศุสัตว์ ที่ได้แจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ ดูแลสุขภาพสัตว์ และกรมประมง ที่สนับสนุนเรือตรวจ ลำเลียงผู้ป่วย และอพยพประชาชน สำหรับมาตรการช่วยเหลือ ประกอบด้วย การเร่งรั้ดจ่ายเงินทดรองราชการ ภายใน 90 วัน, ชดเชยความเสียหายด้านพืช รายละไม่เกิน 30 ไร่, ชดเชยความเสียหายด้านประมง รายละไม่เกิน 5 ไร่ หรือกระชัง/บ่อซีเมนต์ 80 ตร.ม. และชดเชยความเสียหายด้านปศุสัตว์ อาทิ โค กระบือ และสุกร
และ 7.กระทรวงกลาโหม โดยบูรณาการกองทัพบกและทหารในพื้นที่ เข้าสนับสนุนการช่วยเหลือและทำหน้าที่เป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการคมนาคม พร้อมแจกจ่ายถุงยังชีพ และการช่วยค้นพบคนหาย.