คลังแก้กฏหมายกยศ.คุ้มเด็กเบี้ยวหนี้
กระทรวงการคลังสุดทนพฤติกรรมเด็กกู้เงิน กยศ.แล้วเบี้ยวหนี้ ออกกฎเหล็กให้นายจ้างและหัวหน้าส่วนราชการ หักเงินเดือนจ่ายหนี้ กยศ.เหมือนกับหักเงินค่าภาษีส่งกรมสรรพากร
“คนที่รับราชการและยังเบี้ยวหนี้ กยศ.เรามีบทลงโทษอย่างหนัก เพราะเงินของ กยศ.คืองบประมาณของแผ่นดินที่สมควรจะได้รับคืนเมื่อผู้กู้ได้เงินทำแล้ว โดยข้าราชการต้องแบบอย่างที่ดี” นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลักระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผย ในงานบันทึกความร่วมมือโครงการ กยศ. กรอ.เพื่อชาติ ระหว่างกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากับองค์กรนายจ้าง 36 หน่วยงาน
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ที่กู้เงินจาก กยศ. เมื่อสำเร็จการศึกษาและมีงานทำแล้ว มักจะคิดว่าไม่ต้องคืนเงินกู้ก้อนนี้ให้กับ กยศ.เพราะไม่มีจิตสำนึกที่ดีพอ แต่ในอนาคตเมื่อ กยศ.แก้ไขกฎหมายเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบริษัทหรือหัวหน้าส่วนราชการต้องมีหน้าที่ในการหักเงิน กยศ.เหมือนกับการหักเงินภาษีส่งกรมสรรพากร
“เรากำลังศึกษาข้อกฎหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ.แต่ไม่ชำระเงินคืนเงินให้กับกองทุน โดยได้ประสานกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืม หากพบว่า ไม่ชำระเงินกองทุนฯ จะไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนทันที แต่คงต้องดูข้อกฎหมายอีกครั้ง ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ รวมถึงการทำใบขับขี่และบัตรประกันสังคมด้วย”
สำหรับนโยบายในปีนี้ กยศ.จะมุ่งเน้นการปล่อยกู้ในกลุ่มวิชาชีพขาดแคลนมากขึ้นเช่นนักบินหรือวิศวกรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมคัสเตอร์ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และไบโอเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบัน กยศ.ปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มวิชาชีพที่ขาดแคลนอยู่แล้ว แต่มีจำนวนเงินกู้ยืมและจำนวนนักเรียนที่กู้น้อย เช่น สาขาแพทย์กู้ได้ปีละ 100,000 บาท สาขาวิศวและนักบินก็ได้ปีละ 80,000 บาท
“จากนี้ไป กยศ.จะต้องนำกลุ่มอาชีพที่รัฐบาลสนับสนุนมาเป็นเป้าหมาย เพื่อปล่อยกู้ให้แก่นักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากๆ และยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะอาชีพเหล่านี้ กำลังขาดแคลนอย่างหนัก”
นอกจากนี้ ยังจะนำวิธีการบริหารเงินรูปแบบใหม่คือ การเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยจะนำหนี้ของ กยศ. ไปขายให้แก่นักลงทุนที่สนใจ เพื่อให้ กยศ. มีเงินทุนหมุนเวียนกลับคืนแล้วนำไปปล่อยกู้ให้แก่นักเรียนและนักศึกษาหน้าใหม่ โดยลดการเพิ่งพาเงินงบประมาณจากรัฐบาลปีละนับหมื่นล้านบาท
ด้านนางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ.กล่าวว่า “ปัจจุบัน กยศ.มียอดปล่อยกู้สะสมประมาณ 400,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ มีหนี้คงค้าง 50,000 ล้านบาทและในจำนวนนี้ เป็นหนี้คงค้างเป็นหนี้อยู่ระหว่างการฟ้องร้องประมาณ 36,000 ล้านบาท หรือประมาณ 70% ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านมา ยอดการชำระหนี้ค้างของลูกหนี้ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
โดยในปี56 มียอดหนี้คืน 11,000 ล้านบาท ปี57 มีหนี้คืน 13,000 ล้านบาทและปี58 มีหนี้คืน 17,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ กยศ.ตั้งเป้าการชำระหนี้คืนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้คาดการณ์เพราะล่าสุด กยศ.ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 41 แห่ง ออกมาตรการชำระหนี้ กยศ.นำส่งพร้อมภาษีของสรรพากร
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีนโยบายกำหนดบทลงโทษข้าราชการอย่างจริงจัง กรณีที่มีหนี้ค้างกับ กยศ.แต่ไม่ชำระหนี้จากจำนวนข้าราชการทั้งหมด 190,000 คน มีหนี้ค้าง 70,000 คน ซึ่งจะต้องรีบมาเจราจากับ กยศ.ก่อนสิ้นปีงบประมาณหรือภายในเดือนก.ย.นี้
ส่วนการปล่อยกู้แก่กลุ่มวิชาชีพขาดแคลนนั้นต้องพิจารณาถึงปริมาณเงินที่จะปล่อยกู้ควบคู่ไปในแต่ละปีจำนวนด้วย เนื่องจากจำนวนนักเรียนและนักศึกษาที่กู้เงินจาก กยศ.ทั้งรายเก่าและใหม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีงบประมาณ2559 กยศ.รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 13,000 ล้านบาท และกองทุนเงินให้กู้ยืนในอนาคต หรือ กรอ.อีก 5,500 ล้านบาท รวมเป็น 18,500 ล้านบาท แต่ในปีนี้ กยศ.ต้องปล่อยกู้ 27,000 ล้านบาท และกรอ.ปล่อยกู้ 9,500 ล้านบาท รวมเป็น 36,500 บาท เงินที่ขาดอยู่ประมาณ 18,000 ล้านบาทมาจากเงินที่ผู้กู้ชำระหนี้คืน กยศ. ซึ่งหาก กยศ.เพิ่มจำนวนเงินปล่อยกู้หรือเพิ่มจำนวนคนกู้ ก็จะมีผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของ กยศ.ในอนาคต.