คลังปล่อยกู้บ้านคนเกษียณ
“กระทรวงการคลังจะเสนอแก้ไขกฎหมายของ บตท.เพื่อ Reverse Mortgage เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ บตท.สามารถปล่อยกู้สูงอายุ คนชราหรือเกษียณโดยนำบ้านหลังที่พักพิงสุดท้ายของชีวิตมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อรับสินเชื่อหรือเงินกู้เป็น รายเดือนจนกว่า เจ้าของบ้านจะเสียชีวิต” นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า และกล่าวว่า
ในอนาคตอีก 10-15 ปี คนไทยจะเข้าสู่สังคมวัยชราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เตรียมความพร้อมเอาไว้ดีเช่นมีเงินออม หรือสวัสดิการจากเงินบำนาญก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน แต่ตรงกันข้ามหากคนเหล่านี้ ไม่ได้เตรียมการชีวิตเอาไว้ล่วงหน้าชีวิตก็จะลำบากและกลายเป็นปัญหาของสังคมขึ้นมาทันที
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รูปแบบวิธีการของ Reverse Mortgage จะทำตรงข้ามกับการปล่อยสินเชื่อทั่วไป กล่าว คือ คนในวัยหนุ่มสาวที่ซื้อบ้านจะผ่อนชำค่างวดจนหมดและเป็นเจ้าของบ้าน แต่เมื่อเข้าสู่วัยชราเจ้าของบ้านก็จะนำบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคาร โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อหรือเงินกู้ให้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน จนกว่าเจ้าบ้านจะเสียชีวิต ซึ่งในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก
ทั้งนี้ บริษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ บตท.จะเป็นกลไกลหลักที่จะดำเนินการเรื่องนี้ ร่วมกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธนาคารพาณิชย์ ทั่วไปซึ่งในหลักการเบื้องต้น บตท.จะเป็นผู้รับซื้อทรัพย์สินหรือบ้านจากคนชรา แต่รูปแบบและวิธีการเป็นอย่างไร ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาร่วมกับ บตท. เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้ออกเป็นรูปธรรม
“สศค.ได้นำต้องแบบของเกาหลีมาศึกษาพบว่า ได้กำหนดคนชราที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปถึงจะเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ขณะที่สหรัฐฯ มีอายุตั้งแต่ 62 ปีขึ้นไป แต่ของไทยนั้น ยังไม่ได้มีการกำหนดอย่างชัดเจน”
กระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายที่จะแก้ไขกฎหมายของ บตท.เพื่อให้ดำเนินการโครงการนี้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นบ้านของคนชราเป็นหลักทรัพย์ที่มั่นคงในยามเกษียณ และเมื่อจากไปแล้ว (เสียชีวิต) บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ บตท.หรือ ทายาทที่แท้จริงจะซื้อกลับคืนก็ได้.