บ้านประชารัฐกระหึ่ม
ประชารัฐวันแรกกระหึ่ม คนแห่สอบถาม ธอส.และออมสินไฟแลป ด้านผู้บริหาร “ชาติชาย-ฉัตรขัย” คาดวงเงินที่เตรียมเอาไว้ 4 หมื่นล้านบาทหมดเร็วแน่นอน เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาด
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.59 ซึ่งเป็นวันแรกที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 2 แห่งคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธนาคารออมสิน ได้เปิดให้บริการวันแรกของโครงการบ้านประชารัฐ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 มี.ค.59 โดยมีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมากทั้งโทรศัพท์ติดตามสอบถามโครงการ และเดินทางติดต่อกับธนาคารด้วยตนเองทำให้บรรยากาศการกู้เงินของโครงการนี้ จากธนาคารทั้ง 2 แห่งมีความคึกคัดเป็นอย่างมาก
“โครงการนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีอยู่อาศัยเป็นอย่างมากโดยวงเงินที่ประชาชนยื่นขอสินเชื่อส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 1 ล้านถึง 1.5 ล้านบาท ซึ่งหากผู้ขอสินเชื่อเตรียมเอกสารครบถ้วน ธอส.จะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 5-7 วันทำการ” นายฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานสินเชื่อ ว่าที่กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คนใหม่เปิดเผยและกล่าวว่า วันนี้ ซึ่งเป็นวันแรก มีประชาชนยืนความจำนง 2,100 ราย วงเงิน 1,900 ล้านบาท
นายฉัตรชัย กล่าวว่า วงเงินสินเชื่อที่ธนาคารเตรียมไว้ 20,000 ล้านบาท คาดว่าภายในเวลา 2 เดือนจะเต็มวงเงิน ซึ่งหลังจากนั้นจะรายงานให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาว่าจะขยายวงเงินหรือไม่ เพราะโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของโครงการนี้ต่ำกว่าท้องตลาดขณะที่ ธอส.จะสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยปีละ 300-400 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า “วันแรก มีประชาชนยื่นกู้ 2,200 ราย วงเงิน 2,200 ล้านบาท และคาดว่า การปล่อยกู้ในโครงการบ้านประชารัฐให้กับประชาชนวงเงิน 20,000 ล้านบาท จะหมดภายใน 2 – 6 เดือน โดยในวันแรกมีประชาชนแสดงความสนใจ 2,430 ราย วงเงินสินเชื่อ 3,137 ล้านบาท”
ประชาชนจำนวนมากสนใจเข้าร่วมโครงการเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยังผ่อนปรนความสามารถในการชำระหนี้ถึง 50% ของรายได้ ทำให้ประชาชนกู้ได้มากขึ้น ซึ่งถ้าหากประชาชนสนใจแต่ยังมีเอกสารไม่ครบก็สามารถลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิ์ได้ก่อน เพื่อเข้าร่วมโครงการก่อนได้ เพราะมีระยะเวลาโครงการประมาณ 2 ปี
ส่วนการปล่อยกู้ให้กับทางเอกชนที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการเพื่อก่อสร้างบ้านประชาชนรัฐของ กรมธนารักษ์ นั้น ขณะนี้ ธนาคารออมสินเตรียมวงเงิน 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะมียอดขอกู้ไม่ต่ำกว่า 100-1,000 ล้านบาทต่อราย จะสามารถปล่อยกู้ได้หมดภายใน 6 เดือนโดยเอกชนสามารถเสนอโครงการเพื่อจองสิทธิ์ไว้ก่อน แต่จะยังมีระยะเวลาเบิกเงินในโครงการไม่เกิน 2 ปี เพราะการก่อสร้างบ้านและคอนโดจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 – 2 ปี พร้อมยืนยันไม่เป็นห่วงหนี้เสีย เพราะธนาคารมีการกลั่นกรองลูกค้าที่มาขอยื่นกู้.
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.59 ได้มติเห็นชอบโครงการบ้านประชารัฐเฟสแรก โดยมี ธอส.และออมสินร่วมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้มีรายได้น้อย วงเงิน 40,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนประชาชนทั่วไปโดย เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอนหรืออาชีพอิสระ ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน ยกเว้นกรณีซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย ซึ่งมูล ค่ารวมของที่ดินและที่อยู่อาศัยที่จะขอกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนัก ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านการพัฒนาโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย
สำหรับประเภทที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านประชารัฐนั้น จะเป็นที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งที่สร้างบนที่ดินของตนเอง โครงการของเอกชน หรือโครงการที่สร้างบนที่ดินของรัฐ ซึ่งครอบคลุมที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งทรัพย์รอการขายของกรมบังคับคดีระยะเวลาโครงการ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ ครม.เห็นชอบ
มาตรการบ้านประชารัฐ จะแบ่งสินเชื่อออกเป็น 2 ส่วนคือ สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโดย ธอส. ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย ร่วมกันปล่อยสินเชื่อวงเงิน 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 2 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้เอกชนผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการเคหะแห่งชาติ ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ
และอีกส่วนคือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยทาง ธอส.และธนาคารออมสิน จะปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 40,000 ล้านบาท ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 30 ปี โดยจะไม่มีการจำกัดรายได้ผู้กู้ แต่สัดส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (DTI) ต้องไม่เกิน 50% กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นขั้นบันไดในช่วง 6 ปีแรก ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 30 ปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น 2 วงเงิน คือ 1.วงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 บาท ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% เงินงวดประมาณ 3,000 บาท ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ยคงที่ 2% เงินงวด 3,000 บาท ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ยคงที่ 5% เงินงวด 4,000บาท ปีที่ 7 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR-1.475% (ปัจจุบัน MRR ของธนาคารออมสิน = 7.475%) เงินงวด 4,500 บาท
และ2.วงเงินกู้ 700,001 บาท – 1.5 ล้านบาท ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ยคงที่ 3% เงินงวด 7,200 บาท ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ยคงที่ 5% เงินงวด 8,600 บาท ปีที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกบี้ย MRR-1.475 ถึงMRR-1.725% เงินงวด 7,900 – 9,100 บาท
นอกจากนี้ โครงการบ้านประชารัฐนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกที่ ครม.อนุมัติในครั้งนี้เป็นส่วนของภาคเอกชน โดยเอกชนรับภาระค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมทั้งลดราคาให้ด้วย และรัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้ ธอส.และออมสินแต่อย่างใด ถือเป็นการคืนกำไรให้ประชาชน หากหนี้มีปัญหาทั้ง 2 ธนาคารจะรับภาระเองโดยที่รัฐไม่ต้องชดเชยคาดว่าวงเงินกู้ 40,000 ล้านบาทจะมีผู้เข้าร่วมโครงการได้ประมาณ 60,000 ราย หากวงเงินไม่พอก็พร้อมจะขยายให้ได้อีก ส่วนโครงการบ้านประชารัฐในส่วนของกรมธนารักษ์จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า.