กรอ.เสนอรัฐนำเข้าแรงงานทักษะสูง
กรอ.พร้อมหารือนายกรัฐมนตรี ดันนำเข้าแรงงานที่มีทักษะสูง เพื่อปรับเปลี่ยนโครงการการผลิตภายในประเทศมุ่งสู่โลกอนาคต มั่นใจเพิ่มรายได้เฉลี่ยคนไทยจาก 3 แสนบาทต่อปีต่อปี ทะลุ 4.5 แสนบาท
“ในการประชุม กรอ. (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน) จะมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรี เห็นชอบการเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง” นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวและระบุว่า หลังจากการสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในปี2569 ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ของคนไทยจากปัจจุบันอยู่ที่ 8,859 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี หรือเท่ากับ 310,000 บาท (35บาทต่อเหรียฐสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้น เป็น 12,900-13,000 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี หรือ 455,000 บาท
ทั้งนี้ การหารือระหว่าง กรอ.กับ นายกรัฐมนตรี จะมีขึ้นภายในเดือนมี.ค.นี้ โดยประเด็นแรกที่จะพูดคุยกันเรื่อง การดึงแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง บุคลากรผู้ชำนาญการ นักวิจัยจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น โดยจะตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณา เพราะแรงงานที่มีทักษะสูงเหล่านี้ จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตของประเทศ
ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า หากสามารถดำเนินโครงการนี้ ได้สำเร็จประเทศไทยจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นในเรื่องการอุตสาหกรรมนวัตกรรมได้เร็วขึ้น เพราะการปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศจะเป็นกลไกใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย และทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ประเทศปานกลางสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
“เบื้องต้นภายใน กรอ.เองได้หารือกันและเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว โดยให้หอการค้าจะรับเป็นเจ้าภาพดำเนินการเรื่องนี้ และภายใน 3-4 เดือน จะปรับแก้กฎระเบียบบางตัว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ดึงแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศเข้ามาทำ งานในไทยได้ ส่วนเรื่องการปรับแก้กฎหมายคงต้องใช้เวลา”
สำหรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ที่จะเสนอให้ กรอ.พิจารณานั้น หอการค้าไทยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ช่วยศึกษาการ ทั้งในด้านภาคการผลิต การบริการ การเกษตร ซึ่งเบื้องต้น พบว่า ปริมาณ รายได้ของของประชากรไทย ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะภาคการเกษตร และรายได้ต่อคนต่อปีของไทยอยู่ที่ 5,700 -5,800 เหรียญฯเท่านั้น 9 ซึ่งน้อยมาก
นอกจากนี้ ยังพบว่า ไทยมีแรงงานทักษะสูงเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายการอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างประเทศที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในไทย เพราะถ้าคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานในไทยจะช่วยเติมเชื้อในการพัฒนาได้เร็วขึ้น โดยไทยต้องเพิ่มสัดส่วนแรงงานที่มีทักษะสูงให้ได้อย่างน้อย 10%
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าผลิตภาพการผลิตของไทยอยู่ในระดับต่ำ หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยของไทยอยู่ที่ระดับ 25,508 เหรียญฯ/คน/ปี แบ่งเป็นภาคการผลิต 49,073 เหรียญฯ, ภาคเกษตร 6,346 เหรียญฯ และภาคบริการ 27,519 เหรียญฯ ขณะที่มาเลเซียผลิตภาพการผลิตอยู่ที่ 54,150 เหรียญฯ สูงกว่าไทย 2 เท่าตัว แบ่งเป็น ภาคการผลิต 49,073 เหรียญฯ ภาคเกษตร 30,557 เหรียญฯ ภาคบริการ 47,478 เหรียญฯ
ส่วนเกาหลีใต้อยู่ที่ 67,008 เหรียญฯ แบ่งเป็น ภาคการผลิต 105,087 เหรียญฯ ภาคเกษตร 27,661 เหรียญฯ ภาคบริการ 56,927 เหรียญฯ ขณะที่สิงคโปร์มีผลิตภาพการผลิตรวม 120,752 เหรียญฯ แบ่งเป็น ภาคการผลิต 103,358 เหรียญฯ ภาคการเกษตรไม่มี และภาคบริการ 127,717 เหรียญฯ เป็นต้น.