เอสเอ็มอีแห่ลงทะเบียนบัญชีเล่มเดียว
“ประสงค์” ยิ้มแกล้มปริ หลังคลอดมาตรการบัญชีเล่มเดียว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแห่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกว่า 430,000 ราย จากเป้าหมาย 350,000 ราย พร้อมแย้มข่าวดี ดอดพบ รมว.คลัง ขอลดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม กรณีรอบปีบัญชีปี2558 ปิดงบเลื่อมปี
โครงการบัญชีเล่มเดียว หรือ One Account เราเริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (14 มี.ค.) มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการมากกว่า 470,000 ราย มากกว่าเป้าหมายที่เราตั้งเป้าเอาไว้ 350,000 ราย เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับมากมายแล้ว เราจะขอให้ รมว.คลัง ลดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม กรณีที่มีภาระภาษีเพิ่ม” นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังเปิดงานสัมมนา โค้งสุดท้ายมาตร การบัญชีชุดเดียว เรื่อง “การแก้ไขข้อผิดพลาดทางการบัญชี เพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรการบัญชีชุดเดียว รุ่นที่ 3” เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โครงการบัญชีเล่มเดียว (One Account) กรมสรรพากรได้เปิดให้มีการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.จนถึงวันที่ 15 มี.ค.59 โดยผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้ จะไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง
และที่สำคัญกรณีผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่ถึง 30 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี2559 และในปีภาษี2560 กรณีที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนกำไรสุทธิที่เกินกว่า 300,000 บาท จะเสียภาษีในอัตรา 10% ซึ่งเป็นอัตราภาษีลดลงจากปัจจุบัน ที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการเอสเอ็มเอ็ม กรณีรายได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ไม่เสียภาษี รายได้เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และเกินกว่า 3 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 20% ซึ่งเป็นอัตราภาษีในระดับเดียวกับบริษัทนิติบุคคลทั่วไป
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างมากมาย ถึง 470,000 ราย เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว พบว่า มีที่เข้าข่ายประมาณ 430,000 ราย เนื่องจากมีการยื่นจดทะเบียนซ้ำและบางรายมีรายได้เกินกว่า 500 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม จากการพบปะในเวทีสัมมนากับผู้ประกอบการ เราพบว่า มีผู้ประกอบการส่วนใหญ่ลงบัญชีไม่ถูกต้องยื่นที่ถูกต้องจริงๆ มีเพียง 10-30% โดยปัญหาที่พบมากคือ รอบบัญชีที่ไม่ได้สิ้นสุดตามที่กรมฯ กำหนดคือ วันที่ 30 ธ.ค. 58 เพราะรอบบัญชีแต่ละบริษัทไม่ตรงกัน เช่น เริ่มก.พ.58 และสิ้นสุดม.ค.59 จึงไม่ได้หักยอดเอาไว ทำให้ภาษีที่ยื่นแก่กรมฯ ขาดและไม่ครบถ้วน ซึ่งประเด็นนี้ ผมได้หารือกับ รมว.คลัง โดยท่านระบุว่าหากเสียภาษีให้ถูกต้องแล้ว กรมก็ควรจะยกเว้นหรือเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ซึ่งประเด็นนี้ จะมีหารือในรายละเอียดอีกครั้ง
ทั้งนี้ โครงการบัญชีเดียว จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่จะได้กลับคืนมาคือ รายได้เพิ่มจากภาษีทางอ้อม โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เพราะเมื่อธุรกิจได้รับการยกเว้นภาษี รายรับก็จะมากขึ้นส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอย เม็ดเงินตัวนี้ คาดว่า จะมีเข้ามาเพิ่มประมาณ 30% หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ราวปีละ 350,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณปีหน้า และเมื่อกรมสรรพากรมีรายได้เพิ่มจากระดับดังกล่าว โอกาสรัฐบาลจะปรับลดภาษีทางตรง หรือลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงมาก็เป็นไปได้สูงมาก
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังเชิญชวนให้ผู้ประกอบการโอทอปเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ด้วยการลดทุนจดทะเบียนเหลือ 500,000 บาท จากเดิมอยู่ที่ 2 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีโอทอปเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว 20% ส่วนอีก 80% เป็นรายเล็ก ส่วนการเพิ่มค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้.