กระตุ้นเศรษฐกิจเดินเครื่องแล้ว โวฉุดจีดีพี 3.5%
โฆษกคลัง เผยหากรัฐบาลไม่ดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีหวังจีดีพีไทยในปี 62 โตได้เพียง 3% ระบุหลัง ครม. เคาะผ่านฉลุยแล้ว มีสิทธิ์ดันเศรษฐกิจไทยโตถึง 3.5% หวังเม็ดเงินกว่า 3.16 แสนล้านบาทจะหมุนเวียนในระบบได้เต็มที่ถึง 4 รอบ ลั่นเม็ดเงินรอบแรก 500 บาท/คน ไหลผ่านบัตรสวัสดิการฯพรุ่งนี้ (21 ส.ค.) ทันที ส่วนที่เหลือเริ่มทะยอนให้เห็นผลทันที
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ “โฆษกกระทรวงการคลัง” แถลงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 62 ว่า จะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3 ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากปัจจัยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง เพราะปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมถึงการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ -0.9 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอตัวลงจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (VOA) รวมถึงรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการสวัสดิการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจของไทย
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 62 จะอยู่ที่ร้อยละ 1 ลดลงจากปีก่อน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเกินสะพัดจะเกิดดุลที่ 3.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 6.1 ของ GDP
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง กระทรวงการคลังจึงได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้เสนอชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในวันนี้ (20 ส.ค.62) รวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน 2.มาตราการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 62 และเกษตรกรรายย่อย 3.มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ และ 4.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมาตรการทั้ง 4 ด้านดำเนินไปตามแผนงานที่วางไว้ เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตจากคาดการณ์เดิมที่รัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ เลย คือ เติบโตตามปกติที่ร้อยละ 3.0 เพิ่มอีกร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 3.5 ในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินที่รัฐบาลและธนาคารของรัฐ รวมถึงแหล่งเงินอื่นๆ นำมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนในครั้งนี้ 316,813 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 1 รอบ ซึ่งตามปกติแล้ว เม็ดเงินที่รัฐบาลอัดใส่ผ่านมาตรการใดๆ นั้น มักจะมีการหมุนเวียนประมาณ 4 รอบ ซึ่งกระทรวงการคลังเองก็คาดหวังจะเห็นเช่นนั้น
สำหรับรายละเอียดของชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนทั้ง 4 ด้าน แยกเป็นมาตรการย่อยดังนี้
1.มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน ประกอบด้วย 4 โครงการ คือ
1.1 มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้เพิ่มเติมจากเดิมอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน ตลอด 2 เดือนของมาตรการนี้ (สิงหาคมและกันยายน 62) และจะเริ่มโอนทันทีในวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.62)
1.2 มาตรการมอบเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือ 500 บาทต่อคนต่อเดือนในช่วง 2 เดือนนี้เช่นกัน
1.3 มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพิ่มอีก 300 บาทต่อคนต่อเดือน
1.4 มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับสถาบันการเงิน เพื่อลดภาระในการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้กองทุนหมู่บ้านฯ 50,732 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 27,249 แห่ง และธนาคารออมสินอีก 23,483 แห่ง ซึ่งจะช่วยเหลือกองทุนหมู่บ้านฯ มีสภาพคล่องเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกต่อไป โดย ธ.ก.ส.จะเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.62 และจะเริ่มพักชำระหนี้เงินต้นที่มีราว 3.7 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 ถึง 30 ก.ย.63 ขณะที่ ธนาคารออมสินจะเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ถึง 31 ธ.ค.62 และเริ่มพักชำระหนี้เงินต้นราว 3 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค.63
2.มาตราการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 62 และเกษตรกรรายย่อย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระหนี้สินของผู้ประสบภัยฯและลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรรายย่อย ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้
2.1 โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ให้กับลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน ให้ได้รับสิทธิ์จ่ายดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.1 ต่อปี สำหรับเงินต้นไม่เกิน 300,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี ริ่ม 1 ส.ค.62 ถึง 31 ก.ค.63
2.2 โครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ ให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่ข้างต้น ให้ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระหนี้เดิมเป็นเวลา 2 ปี นับจากงวดชำระเดิม แต่ไม่เกินวันที่ 31 ก.ค.64 นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมีมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนช่วย เพื่อมีทุนเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนเพื่อฟื้นฟูประกอบอาชีพ และเป็นค่าสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือโรงเรือนเกษตร รวมถึงฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับผลกระทบ วงเงินรวมอีก 55,000 ล้านบาท
2.3 โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ แต่ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 ที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น
3.มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวทั้งในเมืองหลัก เมืองรอง และเมืองอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอี และภาคเอกชน ผ่านมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี ดังนี้
3.1 มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ช้อปชิมใช้” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) ผู้สนใจต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันลงทะเบียน และมีบัตรประชาชน ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ โดยจะได้รับประโยชน์ 2 ส่วนคือ 1.เงินสนับสนุน 1,000 บาทต่อคน ที่จะโอนเงินผ่านไว้ในแอปฯเป๋าตังค์ของธนาคารกรุงไทย เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ โดยไม่สามารถถอนเงินสดได้ และ 2.ได้รับเงินชดเชยร้อยละ 15 ของยอดที่จ่ายเงิน ในพื้นที่และจังหวัดที่ไม่ตรงกับจังหวัดตามบัตรประชาชน แต่ไม่เกิน 4,500 บาท (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)
“ใครใน 10 ล้านคนที่จะลงทะเบียน ต้องวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวให้ดี เพราะจะต้องท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่ระบุและจังหวัดที่ได้ลงทะเบียนเอาไว้ รัฐบาลจึงจะโอนเงินเข้าไปในแอปฯเป๋าตุง 1,000 บาท ซึ่งหากผิดจากนี้ จะเสียสิทธิ์ทันทีและไม่สามารถลงทะเบียนได้อีกแล้ว โดยหลังจากทะเบียนระบบสามารถจะโอนเงินเข้าในบัญชีทันทีถายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
3.2 โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ดำเนินการร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D BANK โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท อัตรดอกเบี้ยร้อยละ 1 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ทั่วไป ได้เข้าถึงแหล่งเงิน เสริมสภาพคล่อง หรือลงทุนขยายกิจการ และสนับสนุน SMEs ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซม ขยายกิจการ และยกระดับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องผ่าน สสว.นั้น เนื่องจากสามารถกำหนดเงื่อนไขที่ผ่อนปรนได้มากกว่าธนาคารของรัฐ
3.3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS8) วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 150,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่มีหลักประกันไม่เพียงพอ ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี โดย บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 30 และรัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี หรือร้อยละ 3.5 ของวงเงินค้ำประกัน
3.4 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.62 ถึง 31 พ.ค.63
นอกจากนี้ สถาบันการเงินของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังมีมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อสนับสนุน SMEs และที่อยู่อาศัยเพื่อสนับสนุน SMEs ให้สามารถเข้าถึงแห่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ และสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อ SMEs และอีก 52,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย
และ 4.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเร่งรัดติดตามการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมี รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลาง หรือที่ปรึกษา หรือรองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้ติดตามและประชุมหารือเป็นประจำทุกไตรมาส หรือแล้วแต่ รมว.คลังจะเห็นสมควร
“กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 62 นี้ จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและเกษตกรรายย่อย ช่วยรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ประกอบการทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 62 และปี 63 ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น” โฆษกระทรวงการคลัง ย้ำ.