อุตตมชี้กระตุ้นฯหลุด ก.ย.นี้ ไม่ส่งผลจีดีพี 62
ขุนคลังแจง ชุดมาตรการกระตุ้นฯเร่งด่วน 3 แสนล้านบาท “เอาอยู่” เชื่อหนุนจีดีพีโต 0.55-0.56% มั่นใจพรุ่งนี้ (20) ผ่าน ครม.ชุดใหญ่ฉลุย! ลั่น หากหลุดช่วง ก.ย. ชี้จะไม่ส่งผลต่อจีดีพีปีนี้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังเตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.) ว่า แม้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ จะคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2562 จะอยู่ประมาณร้อยละ 3 หรือร้อยละ 3 เศษๆ นั้น หากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ท่ามกลางภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับเศรษฐกิจโลก ที่ยังหาข้อยุติกันไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งหลายตัวอยู่ในภาวะถดถอย ไม่ว่าจะเรื่องการส่งออก การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร ก็ไม่แน่ใจว่าจีดีพียังจะเติบโตอยู่ในระดับร้อยละ 3 หรือไม่
ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายช่วยกันอย่างเต็มที่ เชื่อว่าเม็ดเงินที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจราว 3 แสนล้านบาทนั้น น่าจะเพียงพอสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ได้ โดยเชื่อว่าชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.55-0.56 ซึ่งก็จะไปเพิ่มกับประมาณการเดิมที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชุดมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งอยู่ในความดูแลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้น เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันทีที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ ได้อนุมัติไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ส่วนชุดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย.62 เนื่องจากจะต้องให้เวลาในการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลัง จะได้เตรียมการดูแลในเรื่องของการออกไปติดตั้งอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นให้กับร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถที่จะรองรับการอุปโภคบริโภคผ่านระบบเพย์เม้นท์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ
“หากมาตรการเหล่านี้ออกในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ต่อเนื่องถึงเดือน ต.ค.บ้าง เราก็หวังว่าน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจ พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้บริโภคและร้านค้าต่างๆ ได้ ทั้งหมดจะส่งผลต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 โดยชุดมาตรการดังกล่าวดำเนินการได้ล่าช้าเกินเดือน ก.ย.ไปแล้ว เกรงว่าจะส่งผลไม่ทันในปีนี้” รมว.คลังระบุ และว่า
“เพื่อให้ชุดมาตรการมีผลเต็มที่ การเตรียมการจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่าราบรื่น และประชาสัมพันธ์ให้ดี รวมถึงจะต้องมีมาตรการที่จะติดตามว่าสิ่งที่เรามุ่งหวัง กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นไปตามนั้นจริงๆ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเราใช้ระบบที่มีอยู่แล้วในครั้งนี้ ก็จะได้ลงไปตรงตัว เรื่องท่องเที่ยวเดี๋ยวจะต้องมาดูในรายละเอียดอย่างไรให้คนที่จะเข้ามาใช้ เป็น “ตัวจริงเสียงจริง” และเอาไปใช้จริง เราจะทำเรื่องนี้และติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลได้มากที่สุด”
รมว.คลัง ยังกล่าวอีกว่า หากไม่มีชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพี เนื่องจากตัวเลขล่าสุดที่พบในไตรมาสที่ 2 คือ เติบโตแค่ 2.3% และข้างหน้าหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่คลี่คลาย และตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศยังเป็นเช่นที่สภาพัฒน์ระบุ ตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จีดีพีของไทยในปีนี้จะไหลอยู่ที่เท่าใด แม้ทั้งปีจะตั้งไว้ที่ 3.0% แต่หากปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่มั่นใจว่าจะไปได้ถึงระดับนั้นหรือไม่
อนึ่ง การประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เสนอชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน และที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบไปแล้ว ซึ่ง นายอุตตม ระบุไว้ในเฟซบุ๊กส์ส่วนตัวว่า มาตรการดังกล่าวได้มีการกลั่นกรองอย่างเข้มข้น และปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความเป็นไปของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการทุกอย่างต้องรวดเร็ว ภายใต้แผนรองรับการใช้จ่ายที่เหมาะสมรัดกุม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
สำหรับมาตรการข้างต้น แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
2.มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ และ 3. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย โดยงบประมาณที่ใช้ จะใช้เงินงบกลางแค่ราว 4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเป็นเงินกองทุนต่างๆที่มีอยู่แล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และสุดท้ายคือวงเงินสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินของรัฐอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามาตรการที่ออกมาทั้ง 3 ด้านได้ครอบคลุมคนกลุ่มส่วนใหญ่ที่สุดของประเทศ คือทั้งเกษตรกร ภาคการท่องเที่ยว กลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ
“วันนี้ มองไปทั่วโลกหรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเรา ต่างประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องเร่งทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด โดยมาตรการที่ออกมาเบื้องต้น มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ต้องไม่น้อยกว่า 3%” นายอุตมม ระบุ.