ผลักดัน Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ
ส.อ.ท. เสนอ 5 แนวทางการส่งเสริม พัฒนาอุตสาหกรรมไทย ผลักดัน นโยบาย Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อธนาคาร SME ด้วยระบบ Credit Score
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่าทาง ส.อ.ท.ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยผลักดันไปยังกรมบัญชีกลางให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐในส่วนของงานโยธา เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จัดทำหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องใช้สินค้าที่ภาคอุตสาหกรรมไทยผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ซึ่งจะได้หารือกับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อจะได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องนี้ชัดเจนต่อไป ส่วนสินค้าบางรายการที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาผลิตเป็นสินค้า ที่พบกับการใช้เวลาขั้นตอนตรวจมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นาน 2 สัปดาห์ ได้รับพิจารณาที่จะช่วยให้ สมอ.ลดเวลาตรวจสอบสินค้านำเข้ารายการที่นำเข้าบ่อยๆ เหลือ 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ จากกรณีที่บางประเทศในอาเซียนกีดกันสินค้าส่งออกจากไทย โดยอ้างการตรวจเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้น เรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้มาตรการลักษณะเดียวกันผ่านมาตรการของ สมอ.มาดำเนินการบ้าง เพราะการกีดกันการค้าลักษณะนี้ทำให้สินค้าที่นักลงทุนผลิตในไทยมีอุปสรรคในการส่งออกไปขาย
ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมมือกับ ส.อ.ท.พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลกโดยเร็วทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐบาล
สำหรับเรื่องสงครามการค้าจีนและสหรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยด้วย ในการหารือเชื่อว่ากลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่มีฐานการผลิตในจีนจะย้ายมาไทยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทติดต่อเข้ามาแล้ว
ด้านการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ ส.อ.ท.ต้องการให้ช่วยเหลือจะช่วยทั้งด้านการตลาด เงินทุน และการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะด้านเงินทุนกระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ช่วยเหลือต่อไป ส่วนการพัฒนาบุคลากรจะช่วยหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นอกจากนี้ ยังช่วยในเรื่องของการทำ Ease of doing business หรือความยากง่ายในการทำธุรกิจจะช่วยเหลือผู้ประกอบการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดย ส.อ.ท. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ ยุทธศาสตร์ของ ส.อ.ท. 5 ด้าน คือ 1. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม 2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย 3. ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made-in-Thailand 4. เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม 5. ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์
ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส.อ.ท. ได้มีการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเพื่อกำหนดเป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมในทุกมิติ ดังนี้
1.การสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ด้วยคณะอำนวยการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยอาศัยกลไก ทั้งในระดับอุตสาหกรรมด้วยความเชื่อมโยงของ 11 สถาบัน และ กลุ่มอุตสาหกรรม/คลัสเตอร์ และในระดับพื้นที่ด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด
2. ผลักดันนโยบาย Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ 3.เร่งการพัฒนา Ease of Doing Business ของทั้งภาครัฐและเอกชน 4.การพัฒนาระบบ Self – Declaration เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุมัติอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การสร้างระบบ Big Data 5.การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมภายใต้ พ.ร.บ. โรงงาน ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs 6.การช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อธนาคาร SME ด้วยระบบ Credit Score.