บอร์ดสลากฯชี้กินบุญ“ผูกขาด”ไม่เกิน 10 ปี
ประธานบอร์ดสลากฯ นัดฉุกเฉิน! คุยหวยภาพ 12 นักษัตย์ หลังโดนโจมตีหนัก แจงอยู่ขั้นตอนภายใน เรื่องยังไม่ถึงคลังและรัฐบาล เผยเพราะกังวลผลกระทบทางสังคม จึงเลี่ยง “หวยออนไลน์” หวั่นผู้ค้าสลากฯรายย่อยและคนพิการถูกลอยแพ ชี้หากสำนักงานสลากฯนิ่ง อาจกินรวบได้อีกไม่เกิน 10 ปี เหตุโดน “ดิสรัปชั่น” จากเทคโนโลยีแน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพชร อนันต์ศิลป์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วย พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นัดหมายผู้สื่อข่าวมาพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สลากภาพ12 นักษัตร” โดยหวังให้เป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ หลังเกิดกระแสข่าวโจมตีทำนอง “มอมเมาประชาชน” และเพราะ “รัฐบาลถังแตก” โดยได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้สื่อข่าวเป็นจำนวนมาก มาร่วมพูดคุย ณ บริเวณร้านกาแฟแบล็กแคนยอน หลังอาคารกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เมื่อช่วงสายของวันอาทิตย์ที่ 4 ส.ค.62
นายพชร กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลากกินแบ่งฯ) จะต้องรับไว้พิจารณา ทั้งนี้ ทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้มีทีมงานคอยติดตามความคิดเห็นข้างต้น เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเพียงความคิดและเป็นการดำเนินงานภายใน ยังไม่มีการนำเสนอไปยังกระทรวงการคลังหรือรัฐบาลแต่อย่างใด
ส่วนข้อเสนอแนะจากนักวิชาการบางคน ที่เสนอให้บอร์ดสลากกินแบ่งฯนำสลากแบบเดิมมาออกในรูปแบบออนไลน์ แทนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นั้น ส่วนตัวมองว่า การออกสลากออนไลน์ อาจส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่า โดยเฉพาะผลกระทบต่อกลุ่มผู้ค้ารายย่อยและกลุ่มคนพิการ ขณะเดียวกัน การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ยังถือเป็นการลองผิดลองถูกและทดลองตลาดไปในตัว ซึ่งหากสำนักงานสลากฯ ที่ทุกวันนี้ผูกขาดธุรกิจการออกสลากฯแต่เพียงผู้เดียวไม่คิดทำอะไรเพิ่มเติม ก็สามารถจะอยู่ได้อย่างสบาย เพียงแต่บอร์ดสลากกินแบ่งฯและสำนักงานสลากฯ ที่ทำงานร่วมกันมายาวนานกว่า 3 ปี มีความคิดเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยเห็นว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เชื่อว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า “ดิจิทัลเทคโนโลยี” จะเข้ามาทำลาย (ดิสรับชั่น) ธุรกิจผูกขาดของสำนักงานสลากฯ จนอาจทำให้การขายสลากฯแบบเดิมขายไม่ได้อีกต่อไป
ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ “การพนันออนไลน์” จากต่างประเทศก็รุกหนักเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และเล่นได้เสียกันทุกช่วงเวลาและทุกวัน จึงจำเป็นที่บอร์ดสลากฯและสำนักงานสลากฯ จะต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้อยู่รอด โดยไม่ได้รับผลกระทบจาก “ดิจิทัลเทคโนโลยี” และ “การพนันออนไลน์”
“เรื่องนี้เป็นการทำงานภายในของบอร์ดสลากฯและสำนักงานสลากฯ ดังนั้น จึงยังไม่ได้นำเสนอไปยังกระทรวงการคลังและรัฐบาลอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ผมได้รายงานเรื่องนี้ให้ท่านปลัดกระทรวงการคลังรับทราบแล้ว ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นการดำเนินงานตามกรอบกฎหมายของบอร์ดสลากฯอยู่แล้ว แต่ได้กำชับให้พิจารณาในประเด็นผลกระทบทางสังคมมากๆ” นายพชร กล่าว และว่า
เรื่องนี้ บอร์ดสลากฯ ยังจะเดินหน้าทำการศึกษาต่อไป เพียงแต่ไม่กำหนดกรอบเวลา เพราะต้องการทำให้เกิดความรอบคอบให้มากที่สุด โดยระหว่างการพิจารณาในประเด็นผลกระทบทางสังคม ที่ต้องให้ความสำคัยเป็นพิเศษนั้น ก็ได้มอบหมายให้สำนักงานสลากฯไปหารือประเด็นข้อกฎหมายกับทางสำนักงานกฤษฎีกาต่อไป.