สศค.ติวเข้ม“คุ้มครองเงินฝาก+ผู้ใช้บริการ”
สศค.ยกทีมเดินสายจัดสัมมนา “คุ้มครองเงินฝากและผู้ใช้บริการทางการเงิน” ครั้งที่ 6/2562 ให้แก่ประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงเมืองเหนือ แม่ฮ่องสอน
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน และโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลการสัมมนา เรื่อง การคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้กับประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 6/2562 ที่จัดขึ้นโดยสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมธาราทิพย์ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ฮ่องสอน รีสอร์ท อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการจัดสัมมนาวิชาการครั้งที่ 6 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความมั่นใจในประเด็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ทั้งในด้านการคุ้มครองเงินฝาก การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ภัยทางการเงิน การตรวจสอบข้อมูลเครดิต การลงทุน การออมเพื่อการเกษียณ และการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาทั้งสิ้น 200 คน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย สหกรณ์ และผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี น.ส.วิมล ชาตะมีนา ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนาและได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สศค. ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งในส่วนของนโยบายด้านการคลัง นโยบายด้านภาษี นโยบายทางด้านการเงิน นโยบายด้านการออมและการลงทุน และนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พร้อมทั้งได้กล่าวถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ซึ่งมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับการสัมมนาภาคเช้า หัวข้อ “ครบถ้วนทุกมิติความรู้และความคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน” โดยวิทยากรประกอบด้วย นางปิยาภรณ์ โพธิ์กลิ่น ผล.ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) นายวงศ์วริศ ดุลยนิติโกศล รอง ผจก.ใหญ่อาวุโส บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และ นายนันทวัฒน์ สังข์หล่อ ผอ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ โดยมี นายอมรศักดิ์ มาลา เศรษฐกรชำนาญการ ส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยสาระสำคัญของการสัมมนาในภาคเช้าจะครอบคลุมสาระสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองเงินฝากเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในภาพรวม ซึ่งรวมถึงประวัติความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของ สคฝ. ในการดำเนินนโยบายด้านการคุ้มครองเงินฝาก ตลอดจนการปรับปรุงวงเงินความคุ้มครองและกระบวนการจ่ายเงินฝากคืนให้แก่ผู้ฝากเงินให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 2) ระบบข้อมูลเครดิต ซึ่งรวมถึงพันธกิจและบทบาทของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ในการจัดเก็บ การประมวลผล รูปแบบของรายงานข้อมูลประเภทต่างๆ รวมถึงช่องทางวิธีการในการขอตรวจสอบและขั้นตอนแก้ไขข้อมูลเครดิตในการใช้บริการทางการเงินของประชาชนต่อไป
3) บทบาทของ ธปท. ในด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ทักษะทางการเงิน ได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการทางการเงินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดจนมีการแนะนำแนวทางการป้องกันตนจากภัยทางการเงินที่สำคัญ ได้แก่ ภัยจากการหลอกลวงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ การคัดลอกข้อมูลจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ภัยจากคอลล์เซ็นเตอร์ และภัยจากการหลอกลงทุนในเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ ตลอดจนแนวทงการร้องเรียนของผู้ใช้บริการทางการเงินเมื่อประสบภัยทางการเงินดังกล่าว
ส่วนการสัมมนาภาคบ่าย เป็นการสัมมนาต่อเนื่องในหัวข้อ “ครบถ้วนทุกมิติความรู้และความคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน” ดำเนินรายการโดย น.ส.ณปภัช เรียงแหลม เศรษฐกรปฏิบัติการ ส่วนนโยบายการประกันภัย สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. และมี น.ส.ปิยาภรณ์ ครองจันทร์ ผช.ผจก.สายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นวิทยากร
โดยมีสาระสำคัญ คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการออมและการลงทุนของประชาชนไทยเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บออมเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ ตลอดจนได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการนำงบดุลส่วนบุคคล งบรายได้และงบค่าใช้จ่าย มาเป็นเครื่องมือในการประเมินฐานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละบุคคล เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล
ส่วนช่วงที่ 2 โดยมี นายปุริม คัชมุกข์ เศรษฐกรชำนาญการ ส่วนนโยบายการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. เป็นวิทยากร และบรรยายเผยแพร่สาระสำคัญบทบาทของการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา หรือ “เอสโครว์ (Escrow)” ในการเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันให้แก่คู่สัญญาที่ทำสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขาย โดยมี “คนกลาง” หรือ “ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Agent)” เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้อย่างแน่นอนโดยสรุป การสัมมนาทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน อันจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
นอกจากนี้ วันนี้ ( 2 ส.ค.) สศค. ยังได้จัดกิจกรรมโครงการการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองเงินฝากและการบริหารจัดการทางการเงินแก่เยาวชนให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 105 คน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจและได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากนักเรียน ผู้บริหาร และคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก.