แบงก์คาดสินเชื่อบ้านปี62ยังเติบโตได้ 4%
ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยสวนกับแนวคิดผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ หนุนใช้มาตรการ LTV หวังเพิ่มมาตรฐานระบบการเงินไทย กรองลูกค้าคุณภาพป้องกัน NPL ด้านแบงก์ ประเมินภาพรวมสินเชื่อบ้านปีนี้ยังเติบโตได้ระดับ 4%
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า การนำมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นมาตรการที่ควรใช้ควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นมิถุนายน 62 รวมอยู่ที่ระดับ 447,027% หรือ 3.11% และมี NPL สุทธิที่ 217,084 ล้านบาท หรือ 1.53% ซึ่งถือว่าสูงอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ที่ระดับที่ไม่เกิน 1% เช่น ฮ่องกงและไต้หวัน 0.22% เกาหลีใต้ 0.1
“ประชาชนควรมีการออมก่อนที่จะซื้อบ้าน การกู้เงินซื้อบ้านผู้กู้จะต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน ไม่ใช่เอาชื่อมาร่วมกู้ ซึ่งตอนผ่อนชำระจะทำให้เงินตึงมือจนอาจเป็นหนี้เสียได้ และการใช้มาตรการ LTV จะช่วยให้ระบบการเงินมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ความเสี่ยงน้อยลง เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจะช่วยคัดกรองให้สถาบันการเงินได้ลูกค้าที่ดี ไม่เป็นหนี้เสียในอนาคต”
นายอลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมสินเชื่อในปีนี้ จะเติบโตได้ 4% โดยในไตรมาสแรกได้แรงบวกจากการเร่งโอนบ้านก่อนบังคับใช้เกณฑ์ LTV ทำให้การขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ไตรมาส 2 ปรับลดลงเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะกลับมาเติบโต จากการเร่งขายของผู้ประกอบการและเร่งปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เพื่อให้ตัวเลขผลกระกอบการออกมาดี
“ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ธนาคารต้องพิจารณารายละเอียดลงลึกไปถึงธุรกิจ หรือบริษัทที่ลูกค้าทำงาน มีความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ นอกจากนี้ยังคาดว่า แนวโน้มบ้านมือสองจะมีเพิ่มมากขึ้นในตลาด โดยจะมาทั้งจากเจ้าของ นักลงทุนนำมาประกาศขาย รวมถึง NPA ของสถาบันการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2562 ว่า มีจำนวนรวมทั้งส้น 71,019 ยูนิต โดยมีสัดส่วนกว่า 59% เป็น บ้านสร้างใหม่ จำนวน 41,990 ยูนิต และอีกกว่า 41% เป็น บ้านมือสอง 29,029 ยูนิต
อย่างไรก็ตามในปี 2562 นี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ว่าจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 145,300-527,600 ยูนิต หรือมีมูลค่ารวม 431,900-527,900 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 จำนวนยูนิต ลดลง 17.9% มูลค่าลดลง 15.1% โดยตลาดตลาดบ้านแนวราบมีอัตราการเติบโตได้ในทิศทางที่ดี ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV.