ม.44 ดันโครงการยักษ์1.7ล้านล้านบาทฉลุย
ในที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้มาตร 44 กับทุกโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าเนื่องจากการทำงานของอีไอเอ ส่งผลให้งบลงทุนจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานในปีนี้ ที่มีเม็ดเงินมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ผ่านฉลุย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า คำสั่งของ สคช.ที่ไม่ต้องผลการศึกษาทางด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ถือว่า เป็นการปลดล็อกการทำงานของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะทำให้ทุกๆ โครงการที่มีอยู่ในมือสามารถเดินหน้าหาประกวดราคาและหาผู้รับเหมาได้ โดยไม่ต้องรอผ่านการพิจารณาอีไอเอก่อนอีกต่อไป เพราะกระทรวงคมนาคมจะสามารถทำงานเป็นคู่ขนานไปพร้อมๆ กับอีไอเอได้
“ปัจจุบันพบว่า มีโครงการรถไฟทางคู่หลายสายที่ยังรอพิจารณาอีไอเอ รวมไปถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายเตาปูน – ราษฎร์บูรณะที่ปรับเส้นทางใหม่ขยายออกไปอีก 5 กิโลเมตร ทำให้ต้องเสนอไปยังคณะกรรมการอีไอเอพิจารณา รวมไปถึงโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่–กาญจนบุรี ที่ต้องปรับข้อมูลโครงการให้เป็นปัจจุบันแม้ว่า ครม.จะอนุมัติหลักการของโครงการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (8มี.ค.59) แต่เราก็ยังต้องเสนอให้อีไอเอพิจารณาใหม่ ดังนั้น คำสั่ง ม.44 ดังกล่าวจะทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนเปิดประกวดราคาพร้อมๆ ไปกับการรออีไอเอพิจารณาโครงการ และหากอีไอเอผ่านโครงการเราก็พร้อมประกวดราคา เหลือเพียงแค่รอลงนามในสัญญา”
รมว.คมนาคม กล่าวว่า“คำสั่งฉบับนี้จะทำให้ลดระยะเวลาโครงการไปได้ส่วนหนึ่ง เพราะจากเดิมต้องรอผ่านอีไอเอ แต่หลังจากนี้สภาพัฒน์ก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาโครงการควบคู่ไปได้เลย” แต่จะยังไม่สามารถลงนามสัญญาจ้างได้ เพราะต้องรอผลการพิจารณาอีไอเอ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นเรื่องการผูกมัดระหว่างรัฐบาลกับเอกชน หากเกิดข้อผิดพลาดในภายหลังปัญหาการฟ้องร้องก็จะตามมาอีกมากมาย
ผู้สื่อข่ารายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ครั้งที่ 2-2559 ที่มี รมว.คลัง (อภิศักดิ์) เป็นประธานกระทรวงคมนาคม คาดว่า ภายในสิ้นปีนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท จะสามารถลงนามในสัญญาได้หมด และในปีนี้จนถึงต้นปีหน้าจะเริ่มทยอยเบิกจ่ายเม็ดเงินดังกล่าว จากจำนวนโครงการทั้งหมด 20 โครงการ
โดยในช่วงกลางปีนี้ กระทรวงคมนาคมจะลงนามในสัญญาได้ประมาณ 10 โครงการ เช่น โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง(ท่าเทียบเรือA) ของท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย) ตอนที่ 1 ของเส้นทางบางปะอิน – นครราชสีมีและโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นต้น ส่วนอีก 10 โครงการคาดว่า จะเริ่มลงนามในสัญญาได้ประมาณปลายปีนี้ และมีผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในต้นปีหน้า.