ดาว- กสอ. หนุน SMEs ปรับธุรกิจด้วย IoT
ดาว ร่วมกับ กสอ. สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันพลาสติก เปิดตัวโครงการ “ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ปี 2562” สนับสนุน SMEs ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืนปี 2562 จะเปิดรับสมัคร SMEs ที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วย IoT(Internet of Things) โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและอาหาร ด้วยการนำร่องปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่ง ดาว กสอ. และพันธมิตร จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินและวิเคราะห์เครื่องจักรในโรงงาน
พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้เครื่องจักรในสายการผลิตรายงานคุณภาพของการทำงานได้อย่างเป็นระบบซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิต ให้คำแนะนำและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพนักงาน เพื่อสร้างและพัฒนาบุคคลากรให้เกิดความเชี่ยวชาญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน และสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักการ Circular Economy โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานรวมประมาณ 7 เดือน
สำหรับโครงการ ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ได้ร่วมกับ กสอ. และพันธมิตรต่าง ๆ ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดการดำเนินงาน 7 ปีที่ผ่านมา มีสถานประกอบการ SMEs เข้าร่วมโครงการแล้ว 40 แห่ง ให้การอบรมเพื่อสร้างบุคลากรที่เข้าใจและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการแล้วประมาณ 6,000 คน ส่งผลเชิงบวกให้กับชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมอาทิ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลุกต้นไม้ 150,000 ต้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 144 ล้านบาทต่อปี และช่วยให้ชุมชนโดยรอบมีความเป็นอยู่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นกว่า 922,000 คน
ด้านนายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มุ่งเน้นการผลักดันให้ทุกภาคส่วนนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และการผสานเทคโนโลยี System Integration เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ โดยแนวคิดนี้จะเน้นให้อุตสาหกรรมออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่ง่ายต่อการแปรรูปและนำกลับไปใช้ใหม่ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น
นอกจากนี้ในด้านกระบวนการผลิต (Production Process) ก็จะให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้วัตถุดิบในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิต เช่น เทคโนโลยี Machine Visualization ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินโครงการ จรวด 3 ขั้น หรือ 3-Stage Rocket Approach ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาให้นำแนวคิดเรื่อง Lean Management for Environment เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านนายมนตรี ชำนาญโรจน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า มุ่งมั่นที่จะสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบรูณาการร่วมกับการบริหารจัดการแบบลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Lean Management for Environment) เพื่อลดการสูญเปล่าที่เกิดขึ้นจากการกระบวนการผลิตและบริการที่มีความครอบคลุม ทั้งการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และความปลอดภัย
อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยขับเคลื่อนตามกลไกการพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี คือ การเปลี่ยนจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแบบเดิม (Traditional SMEs) ไปสู่การเป็น Smart Enterprises หรือ Smart SMEs ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสู่แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้ต่อไป
ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า ในปีนี้ได้นำระบบ IoT (Internet of Things)มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์ sensor โดยใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อเครื่องจักรระหว่างกันซึ่งจะทำให้สามารถเรียกดูข้อมูลที่ต้องการได้อย่าง Real Time และประมวลผลผ่านระบบ Cloud จะให้ทราบถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตได้ทันที ผ่านอุปกรณ์อิเล็ก-ทรอนิกใดก็ได้ คอมพิวเตอร์ notebook tablet หรือ smartphone ที่จะช่วยวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบสารสนเทศภายในสถานประกอบการ เป็นแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการพลาสติกให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0
รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การช่วยสนับสนุนให้ความรู้และพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SME ได้ใช้ระบบ IoT(Internet of Things) หรือ ระบบLEAN ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดของเสีย ลดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคนงานเป็นอีกเครื่องมือหรือแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จในระบบบริหารจัดการที่ทันสมัย จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการระดับ SME สามารถใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการเพิ่มคุณภาพและจำนวนผลผลิต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น