กสอ.โชว์ผลงาน บ่มเพาะผู้ประกอบการไทย
กสอ. โชว์ผลสำเร็จ โครงการ The Basecamp ยกระดับผู้ประกอบการ 50 ราย ภายใน 6 เดือน จนสามารถพัฒนาธุรกิจ สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 53 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลักสูตรการอบรมโครงการ The Basecamp นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกิดการใช้พื้นที่ร่วม หรือ Co-Working Space เพื่อพัฒนาธุรกิจแล้ว ยังมีหลักสูตรด้านพื้นฐานการสร้างแบรนด์ วิธีการนำเสนอแผน ธุรกิจกับแหล่งทุน การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและหรือการออกแบบ 3D รวมทั้งพื้นฐานทางด้านการเงิน สำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ การส่งเสริมด้านการสร้างสายสัมพันธ์ของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดเครือข่ายทางธุรกิจ การออกแสดงสินค้าเพื่อทดสอบตลาดจริง
รวมถึงการได้ทดลองนำเสนอแผนธุรกิจให้กับแหล่งทุนอีกด้วย ผลจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 6 เดือน มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 50 ราย ได้รับการบ่มเพาะธุรกิจผ่านกิจกรรมต่างๆ จนสามารถพัฒนาธุรกิจ สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ (มูลค่าทางธุรกิจ มูลค่าการจ้างงาน และมูลค่าการลงทุน) โดยรวมกว่า 53 ล้านบาท และมีผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ 1 : 13.25 เท่า ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการอีกหลายรายในโครงการฯ จะสามารถพัฒนาตนเอง ต่อยอดธุรกิจสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นได้อย่างเข้มแข็งเช่นเดียวกัน” นายกอบชัย กล่าว
สำหรับโครงการนี้ มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 120 ราย และผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จำนวน 50 ราย ในการเข้าร่วมบ่มเพาะธุรกิจ โดยมีโค้ช หรือ ผู้เชี่ยวชาญจาก The World Startup Festival หน่วยงานจาก Silicon Valley ที่มีประสบการณ์ในด้านการสร้าง Startup ไปจนถึงการลงทุนกับ Startup มาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับมีผลงานที่น่าสนใจ เช่น ผลิตภัณฑ์ Zading โปรตีนจิ้งหรีด อาหารแห่งอนาคต ผลงานของ คุณภานุวัฒน์ โคตรโนนกอก ที่นำจิ้งหรีดมาแปรรูปเป็นโปรตีนทดแทนหรือโปรตีนผง ส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยเน้นจุดขายใช้จิ้งหรีดพันธุ์สะดิ้ง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีโปรตีนสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ และเลี้ยงในระบบออแกนิค
นอกจากจิ้งหรีดผงแล้ว ยังเตรียมทำผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดอื่นๆ อีก เช่น เอนเนอจี้บาร์ เส้นขนมจีนอบแห้ง เป็นต้น รวมถึงผลงาน Medical Device ซึ่งเป็นเครื่องวิเคราะห์สไลด์แปบสเมียร์ด้วยระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent หรือ AI) เพื่อคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูก ของคุณปริญญา วัฒนนุกูลชัย และคุณสมาธิ บัวคอม ที่เป็นการพลิกโฉมกระบวนการตรวจมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยให้รวดเร็วในเวลาไม่กี่วินาที จากวิธีปกติ ที่ต้องรอผลอย่างน้อย 3-5 วัน อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่านำเข้าถึง 50 เท่า.