คปภ.ดึง ผชช.ต่างชาติ ร่วมถก InsurTech
คปภ.ดึง ผชช.ต่างชาติ ร่วมถก InsurTech ครั้งที่ 2 หวังแชร์ประสบการณ์ตรงเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทย เผยเวทีโลกต่างจับตาเหรียญดิจิทัล LIBRA ของค่าย facebook ระบุเร็วเกินไป! หากจะฟันธงว่าส่งผลดีหรือเสียต่อระบบการเงินและประกันภัยโลก
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
กล่าวถึงการจัดประชุมสัมมนา InsureTech 2019 ว่า เป็นการจัดงานครั้งที่ 2 โดยมีเป้าหมายระดมความคิดในทุกภาคส่วน ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ ยอมรับพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ InsureTech นั้น ก้าวล้ำจนกฎระเบียบภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาและผ่านร่างกฎหมาย ก่อนประกาศใช้ จึงทำให้กฎหมายนั้น อาจไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
“การจัดงาน InsureTech 2019 ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะมุมมองและประสบการณ์จากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งได้เชิญมาเป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้ใหม่ๆ ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งก็มีผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทประกันภัยหลายคนมาร่วมรับฟังในงานนี้”
เลขาธิการ คปภ.ยอมรับว่า ทั้ง สำนักงาน คปภ.และบริษัทประกันภัย จำเป็นจะต้องเรียนรู้และเดินไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมกับปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.อยากเห็นผู้ประกอบการ Startup รายใหม่ๆ ที่ไม่ใช่หน้าเดิมๆ เข้ามาร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยมากขึ้น จากนี้ จะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างเวทีให้กับ Startup รายใหม่ ได้มีโอกาสแจ้งเกิดในอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยต่อไป
“สำนักงาน คปภ.มีหน้าที่คอยดูแล แต่ไม่ใช่แค่การกำกับอย่างเดียว ยังส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการจะพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดตั้ง CIT หรือ Center of Insurance Technology ขึ้นมาคอยดูแลและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับอุตสาหกรรมประกันภัย”
ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ในวงการการเงินและประกันภัยทั่วโลก ได้หยิบยกประเด็นการเกิดขึ้นของเงินดิจิทัลมาพูดคุยในวงกว้าง ถึงข้อดี-ข้อเสียที่จะมีตามมา โดยเฉพาะกรณีกลุ่ม facebook เตรียมเปิดตัวเหรียญ LIBRA ขึ้น ส่วนตัวคงบอกไม่ได้ในตอนนี้ ว่า การเกิดขึ้นของเหรียญดังกล่าว จะส่งผลดีหรือเสียต่ออุตสาหกรรมประกันภัย คงต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ที่ดูแลระบบการคลังของประเทศ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งดูแลระบบการเงิน และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ถือ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 รวมถึงมุมมองความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จากนั้น จึงค่อยนำมาปรับปรุงใช้กับการกำหนดนโยบายของสำนักงาน คปภ.ต่อไป.