กสอ.ปลื้ม ยกระดับSMEsต้นแบบสำเร็จ21ผลิตภัณฑ์
กสอ.จับมือ สถาบันอาหาร โชว์ผลงาน ยกระดับ SMEs ด้วยนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูปต้นแบบ 21 ผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้ คาดสร้างมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)กล่าวถึงความสำเร็จ โครงการยกระดับศักยภาพ SMEs อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูป ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ปีงบประมาณ 2562 ว่า กสอ.ได้ทำงานร่วมกับสถาบันอาหาร ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมด้านอาหารแปรรูป (ITC-Mie Thailand Innovation Center) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม(ITC) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารแปรรูปตลอดห่วงโซ่การผลิต เมื่อผู้ประกอบการแปรรูปอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำได้รับการพัฒนาเพิ่มศักยภาพและทักษะการผลิต รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้านวัตกรรมแล้ว ย่อมมีความต้องการวัตถุดิบการผลิตจากภาคการเกษตรซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำมากยิ่งขึ้น ส่วนปลายน้ำของห่วงโซ่ อย่างเช่น ร้านค้าปลีกหรือตัวผู้บริโภคก็มีสินค้าคุณภาพมาตรฐานเป็นทางเลือกมากขึ้นด้วย
“จากทิศทางตลาดโลกที่อาหารแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการควรเตรียม พร้อมในการพัฒนาศักยภาพตนเองด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีและมีอายุการเก็บรักษาที่เหมาะสม ต้องทราบกระบวนการและข้อจำกัดของเทคโนโลยี รวมถึงสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสินค้าแต่ละชนิด ผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยศึกษาข้อมูลแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารในโลกอนาคต จึงจะสามารถฝ่าฟันการแข่งขันในตลาดโลกได้”
นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2562 แบ่งเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารแปรรูปสมัยใหม่ให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “เทคนิคการผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าภาชนะบรรจุปิดสนิทในสภาวะที่มีความเป็นกรดต่ำและปรับกรด และเทคนิคการผลิตผลิตภัณฑ์สินค้า อาหารอบแห้ง” แบ่งเป็นภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 75 กิจการ จำนวน 123 คน
กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรแปรรูปภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมด้านอาหารแปรรูป (ITC – Mie Thailand Innovation Center) โดยรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 21 กิจการ เพื่อพัฒนา 21 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและเตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้ ได้แก่ ข้าวเอเนอร์จี้บาร์รสอาหารไทย O-Pae Snack Bar(ขนมโอแป) กราโนล่า สแนคบาร์(ลิ้นจี่) Lurry(Vegan Cookie) เกรียบแก้ว (มินีมีลแครกเกอร์) ไอศกรีมน้ำนมถั่วเหลือง พุดดิ้งน้ำกะทิทุเรียน ชาดอกมะขาม ไซรัปมัลเบอร์รี่ผสมน้ำผึ้ง เบอร์รี่พลัสไรซ์(เครื่องดื่มผงเพื่อสุขภาพ) ผงเห็ดหลินจือผสมเสาวรสชงดื่ม 3 สหาย(ผงกระเทียม พริกไทย รากผักชี) ผงผักโรยข้าว ซอสไข่เค็ม น้ำแกงส้มปรุงสำเร็จ น้ำพริกปลาร้าสับอบแห้ง ไส้กรอกอีสานแช่แข็งพร้อมรับประทาน(สูตรข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา) ฮอทดอกปลา(แช่แข็งพร้อมรับประทาน) หมูแผ่นอบกรอบ น้ำยาขนมจีนอบแห้ง และเนื้อหมูหมักสูตรนมสดเสียบไม้แช่แข็ง
“จากการผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูปต้นแบบดังกล่าวประเมินว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและสามารถขยายตลาดได้อย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต”
นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานเป็นที่ปรึกษาในโครงการดังกล่าวโดยจัดหาวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา สำหรับให้ความรู้และให้คำแนะนำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงการบริการด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรแปรรูปสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับองค์ความรู้ผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบการเกษตรได้สูงสุด.