ดัชนีอุตสาหกรรมดิ่งในรอบ 5 เดือน
ส.อ.ท.เผยปัจจัยลบกดดันดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมของไทยในเดือนม.ค. ทำให้ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังสำรวจพบผู้ประกอบการหวั่นปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลพี่น้องเกษตรกร ขณะที่เศรษฐกิจทรุดกระทบยอดส่งออกและเงินบาทผันผวน กระหน่ำเป็นดาบสอง
“เศรษฐกิจไทยในปีนี้ กำลังเผชิญความเสี่ยงหลายด้านทั้งปัญหาเรื่องภัยแล้งแม้จะเป็นเรื่องเก่าที่เรารับรู้กันมานานแล้ว แต่ภาคเอกชนก็ต้องอยากเห็นมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลมากกว่านี้ส่วนปัจจัยลูกใหม่ในปีนี้ ก็คือความซบเซาของเศรษฐกิจโลก” นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน ม.ค.2559 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยระบุว่า ในการสำรวจของ ส.อ.ท.ในครั้งนี้ ได้สำรวจตัวอย่างครอบคลุมทั้งหมด 44 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 86.3 จากเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ที่ระดับ 87.5 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ขณะที่ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงมาอยู่ระดับ 100.8 จาก 102.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงที่สอดคล้องกับปัจจัยลบที่กระหน่ำเศรษฐกิจในช่วงนี้พอดี
โดยยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินบาทมีทิศทางทีผันผวน โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และอาเซียน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด เพราะชาวจีนไม่ใช่แค่เป็นเพียงผู้ผลิตอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขาก็ยังเป็นผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
“ปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ มีผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้บริโภค ทำให้เกิดความกังวลและความไม่เชื่อมั่นกลับคืนมาอีก กำลังซื้อที่เคยเพิ่มขึ้นก็กลับคืนมาก็ร่วงลงในเดือนม.ค. แม้ว่า รัฐบาลจะมีช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทัดทานกับปัจจัยลบเหล่านี้ได้” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
ทั้งนี้ ส.อ.ท.อยากให้รัฐบาลเพิ่มความสำคัญกับการค้าชายแดนและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการส่งออกที่มีแนวโน้มไม่ค่อยดีนักต่อเนื่องจากปีที่แล้วพร้อมๆ กับดึงนักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม เพราะขณะนี้ นักลงทุนในจีนและนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในจีนเอง ก็พยามยามที่แสวงหาตลาดใหม่ ภายหลังจากพบว่า แรงดึงดูดที่น่าสนใจของจีนกำลังจะหมดไป เช่น ค่าแรงที่มีราคาถูก ที่กำลังส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
“ไทยควรฉวยจังหวะนี้ ดึงนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสุข ภาพและเครื่องสำอาง เพราะสินค้ากลุ่มนี้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะรุ่งหรือร่วง ผู้บริโภคก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความงาม เพื่อชะลดความแก่มากขึ้น”
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่น ตามขนานกิจการในเดือนม.ค. ปรากฏว่า ลดลงโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีลดลงเหลือระดับ 78 จากเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ระดับ 79.7 อุตสาหกรรมขนาดกลางลดลงเหลือ 86.8 จาก 87.3 ขนาดใหญ่ ลดลงเหลือ 94.3 จาก 95.6
ขณะที่ความเชื่อมั่นรายภูมิภาคลดลงทั้งหมด โดยภาคกลางเหลือ 88.1 จากเดือนธ.ค. ที่ระดับ 88.7 ภาคเหนือ ความเชื่อมั่นเหลือ 84.5 จาก 88.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหลือ 82.7 จาก ภาคตะวันออก ความเชื่อมั่นเหลือ 87 จาก 88.6 และภาคใต้ เหลือ 84.3 จากระดับ 85