กรมศุลฯจับแหลกของเถื่อน 2.6 พันล.
กรมศุลกากรเผย ยอดจับกุมสินค้าหนีภาษีในรอบ 11 เดือนพุ่งเฉียด 3 หมื่นคดี มูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท ลั่นที่ผ่านมาพร้อมเจรจายอมระงับคดีในชั้นศุลกากร แลกการยึดของกลาง ยกเว้น! สินค้ากระทบความมั่นคง, ยาเสพติด, ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และละเมิดไซเตส จำต้องเดินหน้าดำเนินคดีรุนแรง
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงผลการจับกุม ประจำเดือน ส.ค.62 ว่า ตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปราม การลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา Cites
โดยการสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ รวมถึงการดำเนินงานตามแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลา ซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ และการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
ล่าสุด เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กรมศุลกากรพบการกระทำความผิด 2,869 คดี มูลค่าสินค้า 252,728,213 บาท เป็นจำนวนคดีจากการลักลอบร้อยละ 18.4 เป็นจำนวนคดีจากการหลีกเลี่ยงร้อยละ 81.6 โดยมีมูลค่าจากการกระทำความผิดเป็นกรณีลักลอบถึงร้อยละ 55.3 สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เคตามีน ยาเสพติดประเภท โคคาอีน และยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน และสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน กระบือมีชีวิต และบุหรี่
ด้านของการจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น ได้ตรวจพบการกระทำผิดที่น่าสนใจ อาทิ ผู้ลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยซุกซ่อนและกลืนไว้ในร่างกาย การตรวจยึดนกเหยี่ยวขาว ซึ่งจัดเป็นวงศ์นกในบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) และนกกินปลีสีแดง นกเขียวคราม นกเขียวก้านตองใหญ่ และนกโนรี ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
และการตรวจยึดอะไหล่รถยนต์ผิดกฎหมายโดยใช้เครื่องหมายการค้าปลอมได้เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เบรกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยีห้อ Brembo และ Nissin กรมศุลกากรเห็นว่าอะไหล่รถยนต์ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค ตลอดจนความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน เนื่องจากอะไหล่รถยนต์ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้น ไม่ได้ผลิตขึ้นบนพื้นฐานทางวิศวกรรมแต่เน้นการใช้วัสดุราคาต่ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้การใช้งานมีความผิดปกติ เนื่องจากเบรกปลอมนั้นไม่สามารถทนความร้อนสูง และแรงเสียดสีได้ ทำให้ประสิทธิภาพในการเบรกต่ำมาก มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถแยกแยะอะไหล่รถยนต์จริงกับปลอมเบื้องต้นได้ โดยการขอเอกสารการรับประกันจากบริษัท/ห้างร้าน ที่จำหน่ายอะไหล่ดังกล่าว นอกจากนั้นอาจสังเกตได้ว่า อะไหล่รถยนต์ปลอมส่วนมากจะมีราคาถูกผิดปกติ
ด้านผลการตรวจยึดสินค้ากรณีความผิดลักลอบและหลีกเลี่ยง ปีงบประมาณ 62 (ต.ค.61 – ส.ค.62) กรมศุลกากรสามารถจับกุมการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ทั้งสิ้น 29,875 คดี มูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,628,435,357 บาท แยกเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ ร้อยละ 65.2 ซึ่งสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าสูงสุดในช่วงดังกล่าว ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน นาฬิกาชนิดต่างๆ ยาเสพติดประเภท โคคาอีน ขณะที่ สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกสูงสุดช่วงดังกล่าว 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภทเคตามีน และรถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก
โฆษกกรมศุลกากรย้ำว่า ในส่วนของอะไหล่รถยนต์ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน แต่มูลค่าไม่สูงนัก เนื่องจากมีของเลียนแบบ และที่ต้องเร่งดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะสินค้าประเทศนี้ มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน อาจกลายเป็นความเสี่ยงและอันตรายถึงชีวิตแก่ผู้ใช้สิ้นค้าอะไล่รถยนต์ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ การแถลงข่าวครั้งนี้ มีตัวแทนผู้ซื้อลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องของแบรนด์ที่มีการปลอมแปลง มาร่วมสังเกตุการณ์ด้วย
“ที่ผ่านมา กรมศุลกากรมักจะทำการตกลงระงับคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าและหลีกเลี่ยงในชั้นศุลกากร เพราะไม่ต้องการให้เรื่องของคดีที่มีมากถึงเดือนละกว่า 2,000 คดี ปีละราว 30,000 คดีไปคั่งค้างอยู่ในชั้นศาล จึงพยายามตกลงระงับคดีฯ โดยหากจับกุมได้ในพื้นที่ทำงานของศุลกากร ก็จะดำเนินการยึดของกลาง แต่หากหลุดรอดไปได้ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรสืบค้นจนสามารถจับกุมได้ จะต้องเสียค่าปรับสูงสุดถึง 4 เท่า” โฆษกกรมศุลกากร ระบุ
อย่างไรก็ตาม หากเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอนุญาสัญญาไซเตส, ยาเสพติด, ขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติก รวมถึงสินค้าที่กระทบกับความมั่นคงของชาติ จะไม่อยู่ในชั้นของการจะตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจังและเข้มข้นต่อไป.