สรรพากรรื้อใหญ่ภาษีบุคคลธรรมดา
สรรพากรเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เน้นเพิ่มค่าลดหย่อนสร้างความเท่าเทียมกับภาษีเงินได้นิติบุคคล คาดรายได้รัฐสูญหลักหมื่นล้าบาท มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์เต็มๆ
“กรมได้เสนอปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดยมีหลักการง่ายๆ กล่าวคือ ประชาชนทุกคนที่เสียภาษีจะมีความสุขมากขึ้น”
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในระหว่างการลงนามร่วมสภาวิชาชีพบัญชี และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำบัญชีเล่มเดียว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาระยะหนึ่งแล้ว หลังจากที่กรมปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมอีก จึงเสนอให้มีการแก้ไข้เพิ่มเติมอีก
ในช่วงที่ผ่ามา กรมสรรพากรได้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินบุคคลธรรมดาจากเดิม 5 ขั้นคือ ยกเว้น 10% 20% 30% 37% เพิ่มขึ้นเป็น 7 ขั้น เริ่มตั้งแต่ 5%10% 15% 20% 25% 30% และ 37% แต่ไม่ได้ปรับปรุงเรื่องการหักค่าลดหย่อน ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 20%
นายประสงค์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว กรมสรรพากรจะเพิ่มหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายจาก 60,000 บาท เป็นระดับ 100,000 บาท โดยจะไม่ตัดทิ้งค่าลดหย่อนต่างๆ ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้หลักหมื่นล้านบาท
ส่วนโครงการลงทะเบียนบัญชีเล่มเดียว ซึ่งเริ่มเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. จนถึงวันที่ 15 มี.ค.59 ผ่านพ้นไปไม่ถึง 1 เดือน ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทะเบียนกับกรมสรรพากรแล้ว 100,000 ราย จากจำนวนที่เอสเอ็มอีทั้งหมด 410,000 ล้านบาท โดยคาดว่า เมื่อสิ้นปีการทะเบียนจะมีเอสเอ็มอีมาลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 300,000 ราย
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เอสเอ็มอี ที่มาลงทะเบียนบัญชีเดียวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ รายได้ในปี 2559 ไม่เกิน 30 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและในปี 2560 จะเสียภาษีนิติบุคคลเพียง 10% โดยผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ตามความหมายของกรมสรรพากรต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี
“มาตรการดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากร สูญเสียภาษีประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่จะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานทางบัญชีเป็นสากล และในปี 2562 ผู้ประกอบการที่จะขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน จะต้องใช้บัญชีที่เสียภาษีกับกรมสรรพากรในการขอสินเชื่อ” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า
ส่วนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของรายได้ 2558 ที่เริ่มยื่นตั้งแต่ 1 ม.ค.จนถึงวันที่ 30 มี.ค.59 ล่าสุด มีผู้ยื่นภาษีแล้ว 1.8 ล้านราย จากผู้มีสิทธิ์ 11 ล้านราย โดยผู้ยื่น 84% เสียภาษีทางอินเทอร์เน็ต ส่วนที่เหลือ16% ยื่นด้วยมือ ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ยื่นขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 50% ซึ่งในขณะนี้กรมสรรพากรได้จ่ายเงินคืนภาษีแล้ว 2,500 ล้านบาท
ขณะที่มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว กรมสรรพากรได้เสนอขยายอายุมาตรการออกไป 2 ปี จาก 1 ม.ค. 2559 – 31 ธ.ค. 2560