ชี้นำเข้า-จับกุม“แบรนด์เนม-ฟุ่มเฟือย”พุ่ง
คนไทยไม่จน หรือจมไม่ลง? หลังกรมศุลการแถลงตัวเลขจัดเก็บรายได้ช่วง 11 เดือน ใกล้เป้าทั้งปี 62 ที่ 100,312 ล้านบาท แฉ!พบสินค้ากลุ่มแบรนด์เนมและของฟุ่มเฟือยเติบโตต่อเนื่องรวมกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดจับกุมการลักลอบนำเข้าหนีภาษีพุ่งกว่า 50% เทียบกับทั้งปีของปีก่อนที่มีเพียง 6,000 ล้านบาท ลั่นต้นปีหน้า สุวรรณภูมิได้ใช้เครื่องเอ็กซเรย์ของหนีภาษี 23 ตัวแน่
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงผลจัดเก็บรายได้กรมศุลกากร ประจำเดือน ส.ค.62 ว่า สามารถจัดเก็บรายได้ศุลกากร 8,708 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 592 ล้านบาทหรือร้อยละ 6.4 ทำให้ช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 62 (1 ต.ค.61 – 3 ก.ย.62) จัดเก็บรายได้ศุลกากรรวม 100,312 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7,731 ล้านบาทหรือร้อยละ 8.4 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 342 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.3 ซึ่งใกล้เคียงประมาณการรายได้ทั้งปีตามเอกสารงบประมาณที่ 100,000 ล้านบาท และตามคาดการณ์ของกระทรวงการคลังที่ 108,000 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 62 น่าจะจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายและคาดการณ์เล็กน้อย แม้จะได้รับผลกระทบจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากเอกสารจัดเก็บรายได้ของกรมศุลการ พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอางที่มียอดนำเข้าช่วง 11 เดือน สูงถึง 2,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และกระเป๋าที่แม้ส่วนใหญ่จะมิใช่กระเป๋าแบรนด์เนม ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ก็มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 1,542 ล้านบาท และหากนับรวมกระเป๋าแบรนด์เนมที่แอบลักลอบนำเข้ามา กระทั่ง กรมศุลการสามารถจับกุมได้ในช่วง 11 เดือน สูงถึง 90 ล้านบาท และสูงกว่ายอดการจับกุมทั้งปีของปี 61 ที่มีเพียง 60 ล้านบาทเศษเท่านั้น อีกทั้งยังไม่นับรวมสินค้าและของใช้แบรนด์เนมอื่นๆ ที่มีการลักลอบ “ขายออนไลน์” ผ่านการไลฟ์สดทางช่องทางอินเทอร์เน็ต (โซเชียลมีเดีย)
สะท้อนให้ว่าทั้งการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยที่เสียภาษีถูกต้อง และลักลอบนำเข้าโดยไม่เสียภาษี ซึ่งมีทั้งที่จับได้และจับไม่ได้ รวมกันในปีนี้ มีมูลค่าสูงนับหลายพันล้านบาท ขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างแรง โดยเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกือบทุกตัวหดตัวอย่างแรง ยกเว้นการลงทุนภาครัฐ ที่ยังพอขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้บ้าง แต่ก็ไม่เพียงจะขับเคลื่อนและผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยได้มากนัก จนหลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ต่างประเมินในทิศทางเดียวกัน ว่า สุดท้ายจีดีพีในปี 62 จะขยายตัวเกินร้อยละ 3 หรือไม่ แต่ทว่ายอดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าความต้องการซื้อของสินค้าในกลุ่มนี้ยังคงมีสูง และอาจเป็นไปได้ว่า คนไทยบางกลุ่มยังคงมีเงินออมและกำลังซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ หรืออาจไปได้ว่า “คนไทยจมไม่ลง” เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อไม่มี แต่ความต้องการในสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงมีสูงมาก
ด้านนายธาดา ชุมไชโย ผอ.สำนักสืบสวนและปราบปราม ยอมรับว่า การป้องกันการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี โดยเฉพาะกระเป๋าแบรนด์เนมและของฟุ่มเฟือยอื่นๆ อาทิ นาฬิกาหรู น้ำหอม และอื่นๆที่ผู้นำเข้าแอบนำมาในจำนวนที่น้อย ทั้งลักษณะ “กองทัพมด” หรือนำเข้ามาที่ละใบ/ชิ้น ล้วนเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน จำเป็นจะต้องได้ข้อมูลการชี้แนะหลักฐานจากคนวงใน ควบคู่กับการหาข่าวเชิงลึก อย่างไรก็ตาม กรมศุลการจะไม่เน้นตรงเข้มมากจนเกินไปนัก ด้วยเกรงจะกระทบกับผู้นำเข้าและผู้โดยสารอื่นๆ กรณีการนำเข้าผ่านทางสนามบิน ส่วนการ
“หลังจากมีคดีการจับกุมลูกเรือของการบินไทยที่แอบลักลอบนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย กรมฯก็เน้นตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น แต่ไม่ถึงกับตรวจเข้ม 100% ขณะเดียวกัน ตามแผนงานที่จะดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจจับสินค้าจำนวน 23 เครื่องในทุกช่องสายพานภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นใช้เวลาในการทดสอบระบบและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อีกสักระยะ คาดว่าจะเริ่มดำเนินได้ภายในไตรมาสแรกของปี 63” นายชัยวัฒน์ กล่าวเสริม
ส่วนการไลฟ์สดขายสินค้าแบรนด์เนมและสินค้าฟุ่มเฟือยนั้น ผอ.สำนักสืบสวนและปราบปราม ระบุว่า ไม่ใช่ทุกรายที่จะลักลอบนำเข้ามา เพราะการจัดเก็บสินค้ากลุ่มนี้มีอัตราที่ไม่สูงนัก เช่น กระเป๋าแบรนด์เนมจัดเก็บภาษีที่ที่อัตราร้อยละ 30 ขณะที่นาฬิกาหรูเก็บเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ก็มีบ้างที่แอบลักลอบนำเข้า ซึ่งหากคนที่ “ขายออนไลน์” ผ่านการไลฟ์สด อยู่นอกประเทศด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องยากในการจับกุมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การเดินทางจากประเทศต้นทางมายังไทย ไม่ว่าจะเป็นบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่เป็นต้นกำเนิดของสินค้าแบรนด์เนม รวมถึงบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ต่างถูกจับตาเป็นพิเศษในการขนสินค้าเข้ามายังประเทศไทยในช่วงนี้.