สรรพสามิตรุกเก็บภาษีอุ้มสุขภาพ-ผู้สูงวัย
สรรพสามิตขานรับนโยบาย “รัฐบาล-คลัง” วางระบบภาษีรองรับสังคมผู้สูงอายุ จ่อขึ้นภาษี “หวาน-เค็ม-มัน-อื่นๆ” ชี้ไม่เน้นเพิ่มรายได้ แต่พุ่งเป้าดูแลสุขภาพคนไทย
นายณัฐกร อุเทตสุต ผอ.สำนักภาษี กรมสรรพสามิต และ “รองโฆษกกรมสรรพสามิต” กล่าวภายหลังเปิดการประชุม The Conference of Sugar Sweeten Beverage Excise Taxation ถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีความหวานที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.62 ว่า เป็นไปเพื่อสอดรับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังในการดูแลสุขภาพของคนไทย อีกทั้งยังรองรับยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ จากการศึกษาของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าคนไทยในช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา และอายุ 60 ปีขึ้นไป ต่างรับรู้ข่าวสาร ข้อมูล และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ จากการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล รวมถึงปริมาณความเค็ม (โซเดียม) และความมัน (แคลอรี่) สูงเกินมาตรการและความจำเป็นของร่างกายในแต่ละมื้อและแต่ละวัน
ขณะที่คนในช่วงอายุ 30-60 ปี กลับรับรู้และให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก จำเป็นจะต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป ทั้งเรื่องมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น การให้ความรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์เชิงรุกถึงผลกระทบจากการรับประทานอาหารและเครื่องที่มีความหวาน เค็ม มัน และอื่นๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งเพิ่มเติม
สำหรับภาษีความหวานนั้น กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บในอัตราขั้นบันไดทุก 2 ปี (ปี 62, ปี 64 ฯลฯ) โดยปรับเพิ่มเป็น 2 เท่า สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร โดยมีอัตราภาษี ดังนี้ ความหวานต่ำกว่า 6 กรัม คิดอัตราภาษี 0%, 6 กรัมแต่ไม่ถึง 8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.10 บาทต่อลิตร, 8 กรัมแต่ไม่ถึง 10 กรัม คิดอัตราภาษี 0.30 บาทต่อลิตร, 8 กรัมแต่ไม่ถึง 10 กรัม คิดอัตราภาษี 0.50 บาทต่อลิตร, 10 กรัมแต่ไม่ถึง 14 กรัม คิดอัตราภาษี 1.00 บาทต่อลิตร, 14 กรัมแต่ไม่ถึง 18 กรัม คิดอัตราภาษี 3.00 บาทต่อลิตร และปริมาณ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5.00 บาทต่อลิตร
นายณัฐกรกล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับรู้ถึงมาตรการทางภาษีที่จัดเก็บจากความหวานแล้ว ยังได้รับรู้ถึงงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเกี่ยวพันถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะมีตามมา และทำให้ต้องกลับไปปรับแนวทางการดำเนินงานและการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ผลิตน้ำดำ (โคล่า) บางรายได้ออกสูตรน้ำตาล 0% มาบ้างแล้ว เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ขณะที่บางรายได้ปรับสูตรด้วยการลดปริมาณน้ำตาลลง แต่ไปเพิ่มปริมาณน้ำตาลเทียมที่ไม่มีผลต่อสุขภาพ เพื่อรักษาระดับความหวานและรสชาติให้ใกล้เคียงกับของเดิม แต่มีบางรายที่ยังคงสูตรการผลิตและรสชาติเดิมเอาไว้ เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่มาก โดยแบกรับภาระภาษีเอาไว้เอง
“อย่างไรก็ตาม มีผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมบางรายได้ปรับเพิ่มราคาสินค้าไปบ้างแล้วในอัตราสูงสุดที่ 2 บาทต่อขวด ซึ่งกรมสรรพสามิตขอยืนยันยัน อัตราภาษีใหม่ไม่ได้สูงมากจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า แต่ที่ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาเช่นนั้น เพราะมีต้นทุนอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขายอมแบกรับภาระเอาไว้เอง ดังนั้น เมื่อกรมสรรพสามิตจะปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ผู้ผลิตรายนี้จึงได้ปรับขึ้นราคาสินค้าไปล่วงหน้าอย่างที่เห็นกัน” โฆษกกรมสรรพสามิต ย้ำและว่า
สาเหตุที่กรมสรรพสามิตต้องจัดเก็บภาษีความหวาน เนื่องจากมีอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดที่มีน้ำตาลสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 2-3 เท่า จนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหัวใจ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า มีผู้ป่วยในกลุ่มนี้ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลสูงถึง 4 ล้านคน โดยยังไม่นับรวมกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่เคยตรวจสุขภาพ และที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลอีกเป็นจำนวนมาก จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐ
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปตามประมาณที่ได้ปรับตัวเลขใหม่ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า จะจัดเก็บรายได้เกินกว่าประมาณการที่ 584,000 บาทเล็กน้อย ส่วนประมาณการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในปี 63 คือ 642,000 ล้านบาท.