3 เดือนข้างหน้าตลาดทุนไทยซบเซา
สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง 17.85% จากเดือนที่ผ่านมา อยู่ในกรอบซบเซา ปัจจัยลบใน-นอกประเทศรุมเร้า
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบจากดัชนีในเดือนที่ผ่านมา โดยนักลงทุนมีความกังวลจากสถานการณ์ต่างประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ในกรอบซบเซา (Bearish)
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า “ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง” อันเนื่องมาจากความกังวลในสถานการณ์ต่างประเทศเป็นหลัก แม้ว่าจะมีปัจจัยเชิงบวกจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ผลสำรวจสรุปว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในกรอบซบเซา (Bearish)
ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมี.ค.2559 อยู่ในกรอบซบเซา (Bearish) ที่ 73.46 (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0-200) ปรับตัวลดลง 17.85% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 89.42 โดยดัชนีรายกลุ่มนักลงทุนปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน
ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศปรับตัวลดลงมากที่สุด (57.15%) อยู่ที่ 33.33 จนแตะระดับ “ซบเซาอย่างมาก” (Extremely Bearish) มีเพียงกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศกลุ่มเดียว ที่ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่เกณฑ์ทรงตัว (Neutral) แม้ว่าจะปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 28.03 อยู่ที่ 90.91
สำหรับหมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการแพทย์ (HELTH) หมวดอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT)
ส่วนปัจจัยเชิงบวกที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายเศรษฐกิจ ปัจจัยเชิงลบที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ สถานการณ์ต่างประเทศ
อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลก การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในรอบถัดไป ปัญหาการเมืองและสงครามระหว่างประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การไหลออกของกระแสเงินทุน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ช้าและสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นต้น
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังสามารถเติบโตได้ที่ 3.5% โดยเครื่องจักรสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป นอกจากนี้ภาคการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 มาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ภาคส่งออกไทยที่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทางมาตรการทางการค้ามากขึ้น เช่น IUU และ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขส่งออกของไทยขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ 1.8% จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องใช้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศเข้ามาทดแทนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับมุมมองต่อแนวโน้มของภาคธุรกิจในปี 2559 มองว่าภาคธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้ดี ได้แก่ กลุ่มรับเหมา และวัสดุก่อสร้าง กลุ่มโรงแรม และท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก รวมถึงการขนส่ง ซึ่งจะได้รับผลดีจากการค้าขายชายแดนที่ขยายตัวมากขึ้นหลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจค้าสินค้าการเกษตร และเครื่องจักร ผู้ผลิต และผู้ค้าเหล็ก รวมถึงผู้ผลิตอาหารทะเล เป็นต้น ดร. เบญจรงค์ กล่าว