ทุ่มหมื่นล้านคลอดกองทุนซุปเปอร์คลัสเตอร์
รมว.คลังผลัดดันกองทุนมูลค่าหมื่นล้านบาท หวังเป็นกลยุทธศาสตร์ดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมซุปเปอร์คลัสเตอร์ ดันอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยขึ้นแท่นอุตสาหกรรมนวัตกรรม
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย.58 ได้มีมติเห็นชอบ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวต่อไป และเมื่อวันที่ 24 พ.ย.58 ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวและดึงดูดบริษัท ชั้นนำจากทั่วโลกมาเพื่อช่วยปรับปรุงและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คณะรัฐมนตรีในคราว การประชุมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 จึงได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ให้จัดตั้ง“กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย” (กองทุน) อยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม 2. กองทุนมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive)
2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 9.อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) (10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) รวมทั้ง อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
3.รูปแบบการสนับสนุน ให้เงินอุดหนุนสำหรับการดำเนินการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับ 1.ค่าใช้จ่ายในการลงทุน 2. ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม 3.ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้อง กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4.ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายกำหนด และ 5.ดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ของสถาบันการเงิน
4.ขนาดกองทุน จะมีเงินกองทุน 10,000 ล้านบาท ทุกสิ้นปีงบประมาณ หากกองทุนมีเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพันคงเหลือในกองทุนเกินหนึ่งหมื่นล้านบาท ให้นำส่วนที่เกินหนึ่งหมื่นล้านบาทส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ในกรณีกองทุนมีจำนวนเงินไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ครบ ตามจำนวนดังกล่าว
5.แหล่งเงินของกองทุน ประกอบด้วย เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ และเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
6.หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับเงินอุดหนุน เป็นกิจการที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามที่รัฐบาลกำหนด และเป็นกิจการที่ผ่านการพิจารณารับรองจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ทั้งนี้ การให้เงินอุดหนุน ดังกล่าวใช้หลักPerformance-Based เป็นหลัก โดยผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ พร้อมทั้งกำหนดตัวชี้วัดของการลงทุนที่ประเทศไทยจะได้รับหากรัฐบาลให้การสนับสนุน
7.แนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย
7.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (คณะกรรมการนโยบายฯ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับกิจการที่จะได้รับการอุดหนุนจากกองทุนฯ กำหนดนโยบายและแนวทางในการสรรหาและเจรจากับนักลงทุน และอนุมัติกิจการที่จะได้รับเงินอุดหนุน และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ รวมถึงออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกองทุน โดยให้เป็นคณะกรรมการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม
7.2 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจา และคณะอนุกรรมการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ มอบหมาย
7.3 เมื่อคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาอนุมัติกิจการให้ได้รับเงินสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ แล้ว กำหนดให้ สกท. ทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ และรับรองการลงทุนดังกล่าวในการได้รับเงินสนับสนุนตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด
และ7.4 กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทำหน้าที่อนุมัติการจ่ายเงินให้แก่นักลงทุนเมื่อมีการดำเนินการลงทุนแล้วตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายฯ พร้อมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานของกิจการที่ได้รับอนุมัติ ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลของกองทุนฯ
“การจัดตั้งกองทุนฯ จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Growth Engine) โดยนอกจากจะช่วยให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ ในแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงต่อไป” รมว.คลัง กล่าวในที่สุด