มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5%
กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ชี้ภาวะการเงินผันผวนสูง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมจนถึงปลายหน้า เหตุเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนมากนัก
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อปี
โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และเดือนต.ค.2558 ฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากการใช้จ่ายในกลุ่ม สินค้าจำเป็น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ
ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง และในระยะต่อไปยังเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และเอเชีย รวมทั้งแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ช่วยให้การขยายตัวของ เศรษฐกิจปี 2558 ในภาพรวมมีแนวโน้มปรับดีขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2559 ใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับสูงขึ้น และกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ตามผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่จะหมดไป
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดมีจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว หรือปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชน ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าภาวะการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังต้องดูแลเสถียรภาพการเงิน และโอกาสที่ตลาดการเงินจะมีความผันผวน สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย นโยบายในการประชุมครั้งนี้แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง และภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
ทั้งนี้ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกคงไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อไปจนถึงปลายปี 2559 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนมากนัก โดยยังมีความเสี่ยงภายในประเทศหลายประการ ทั้งรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรที่ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และภาวะภัยแล้ง รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันที่ลดลง จึงยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย
อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะส่งผลให้ทิศทางของเงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลออก ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราดอกเบี้ยไม่สามารถลดลงได้ เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเงินทุนไหลออกและเสถียรภาพเงินบาท
นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ รูปแบบของการปรับนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed’s Monetary Policy Normalization) โดยหากเป็นไปนอกเหนือจากการคาดการณ์ของตลาด เช่น มีการลดขนาดงบดุล ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 2559 นอกเหนือจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50-100 bps ตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ก็อาจทำให้มีเงินทุนไหลออกรวดเร็ว ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง เป็นปัจจัยกดดันให้ ธปท. ต้องทบทวนแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป