ธ.ก.ส. เร่งเติมเงินช่วยเกษตกรอ่วมน้ำท่วม
ธ.ก.ส.เร่งเติมความเชื่อมั่นเกษตรกรที่อ่วมจากพิบัติภัยธรรมชาติ เผยวงเงินที่บอร์ดฯอนุมัติ 5.5 หมื่นล้านบาทยังเหลือเกือบเต็ม พร้อมช่วยเหลือเงินกู้ฉุกเฉินเต็มที่ จัดไปเงินกู้ชุดแรก 5 หมื่นบาท/ราย ดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก ส่วนเดือนที่ 7- ปีที่ 3 คิดดอกต่ำ ขณะที่ ชุดที่ 2 “ซ่อมบ้าน-ลุยงานเกษตรกรรม” อัดให้อีก 5 แสนบาท/ราย ดอกเบี้ย 7% คืน 15 ปี
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงมาตรการความช่วยเหลือแก่เกษตรที่ประสบปัญหาอุทกภัยจากพายุยุโพดุลพัดถล่มบริเวณภาคเหนือ-ภาคกลางของไทย จนได้รับผลกระทบฉับพลันจากน้ำป่าไหลหลากจนท่วมพื้นที่เกษตรกรและบ้านเรือนของเกษตรกร ว่า ธ.ก.ส.ยังมีวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากบอร์ด ธ.ก.ส.เพื่อสร้างสินเชื่อใหม่ๆ รองรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพิบัติภัยและอื่นๆ รวมวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้นำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งก่อนหน้านี้ ราว 3,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมสินเชื่ออื่นๆ ในโครงการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวงเงินดังกล่าวจะเพียงพอต่อการสร้างสินเชื่อใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้น ทั้งนี้ หากวงเงินที่ขออนุมัติไว้ไม่เพียงพอ สามารถทำเรื่องขอจากบอร์ด ธ.ก.ส. และนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมได้
นอกเหนือจากการพักชำระหนี้เกษตรกรเป็นเวลา 1 ปีแล้ว ธ.ก.ส.ยังมีมาตราการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน ผ่อนชำระคืนนาน 3 ปี โดย เดือนที่ 7 ถึงปีที่ 3 คิดอัตราดอกเบี้ย 6.875% ต่อปี เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินกรณีฟื้นฟูบ้านและดำเนินการผลิตสินค้าเกษตร โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินจากเงินกู้นอกระบบ กำหนดวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท และ 2.สินเชื่อฟื้นฟูเกษตรที่เสียหายโดยสิ้นเชิง ที่ต้องการปรับปรุงการผลิต รวมถึงบ้านเรือนที่ต้องซ่อมบำรุงเร่งด่วน กำหนดวงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR (7%) ชำระคืนไม่เกิน 15 ปี
ขณะนี้ทุกสาขาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ แก้ปัญหาโดยการให้ถุงยังชีพเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้กำลังใจ และประทังชีวิตในระยะสั้น เป็นเงินจากกองทุนของ ธ.ก.ส.เอง ในส่วนความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.เร่งสำรวจทั้ง13 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบแล้ว คาดว่าจะได้รับรายงานในเร็ววันนี้ ซึ่งจากรายงานเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่เสียหายแล้วได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด นครราชสีมา พิษณุโลก ขอนแก่น และพิจิตร
สำหรับปัญหา ราคาข้าวเหนียวแพงนั้น หลังจากที่สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย และหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกมาบ้างแล้ว ทำให้เกษตกรโดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่แต่เดิมเก็บข้าวเปลือกเหนียวในยุ้งฉางเพื่อการบริโภค ต่างแบ่งส่วนที่จะใช้เพาะปลูกในฤดูผลิตนี้ และบางส่วนทะยอยนำออกขายในตลาด ทำให้ราคาข้าวเหนียวลดลง กระทั่ง เกิดปัญหาอุทกภัยตามมา จึงต้องรอดูต่อไปว่าเกษตรกรกลุ่มนี้จะยังระบายข้าวเหนียวออกสู่ตลาดหรือไม่ และแผนการเพาะปลูกข้าวเหนียวจะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งนี้จะเป็นอย่างไร
ด้านนายสมเกียรติ กิวมาวหา ผช.ผจก. ธ.ก.ส. กล่าวว่า ช่วงไตรมาสแรก (1เม.ย.- มิ.ย.62) ธ.ก.ส.สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพียง 4,717 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่ 9.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ปกติหากไม่มีวิกฤภัยแล้งและภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่ละไตรมาสจะปล่อยสินเชื่อได้ถึง 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าในครึ่งปีหลัง (ต.ค.62-31 มี.ค.63) อัตราเร่งในการปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส.น่าจะดีมากกว่านี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเห็นผล ประกอบกับตรงกับช่วงที่สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่วงเทศกาลรื่นเริงที่ผู้คนพร้อมจับจ่ายใช้สอยเพื่อการซื้อสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม แม้การปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกจะยังไม่เข้าเป้า ทว่าปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 4.5% จากต้นปี 3.9% เนื่องจากมีเกษตรกรบางส่วนที่ไม่ได้เข้าโครงการพักชำระหนี้ฯ และไม่ได้ทำประกันภัยสินค้าเกษตร จึงประสบปัญหาเมื่อเกิดพิบัติภัยใดๆ ขึ้นมา.