ดันชีความเชื่อมั่นพุ่งสูงสุดในรอบ 11 เดือน
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 11 เดือน หลังคนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล แต่กังวลก่อการร้ายในฝรั่งเศส และศึกรัสเซีย-ตุรกี
“ศูนย์ฯ คาดว่า การบริโภคของประชาชนน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี หลังจากเม็ดเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น” นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดยศูนย์ฯ มีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 4 เป็นต้นไป และฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงกลางไตรมาสแรกของปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัว 3.3-3.6% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 3%
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.58 ว่า ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 74.6 จาก 73.4 เมื่อเดือนต.ค.58
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 54.5 เพิ่มจาก 53.6 ซึ่งทั้ง 2 ดัชนีดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และดีสุดในรอบ 11 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 82.6 เพิ่มจาก 81.3 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 3 เดือน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.4 เพิ่มจาก 62.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 69.6 เพิ่มจาก 68.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.8 เพิ่มจาก 89.4
“สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้น เกิดจากสภาพัฒน์ปรับการคาดการณ์ ขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 58 เพิ่มขึ้น 2.9% ถือว่าดีสุดในรอบ 3 ปี และปี 59 คาดขยายตัว 3-4% ขณะที่ สศค. คาดจีดีพีปี 58 โตเกิน 3% และปี 59 โต 3.8%” นายวชิร กล่าว และกล่าวว่า
การปรับตัวดีขึ้นเศรษฐกิจไทยมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%
ส่วนปัจจัยลบที่เป็นปัจจัยใหม่คือ ความกังวลต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายในฝรั่งเศส และกรณีพิพาทระหว่างรัสเซีย และตุรกี ซึ่งมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจกระทบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทย และปัจจัยเดิม เช่น การส่งออกที่ยังชะลอลง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทั้งยางพารา ข้าว และปศุสัตว์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เดือนพ.ย. ลดลง 45.94 จุด เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 35.783 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าแพง