กยศ.เล็งหัก ง/ด.นักการเมือง ผุด 5 เกณฑ์ช่วยลูกหนี้
กยศ.เล็กดึงกลุ่ม “ลูกหนี้นักการเมือง” หักบัญชีเงินเดือนต้นปีหน้า ตั้งเป้าเพิ่มยอดจาก 3 แสนคน เป็น 1 ล้านคนในอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมคลอดมาตรการเยียวยาลูกหนี้ หั่นเบี้ยปรับลง 75-80% พร้อมพักชำระหนี้ 1 ปี แก่ลูกหนี้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แถมปรับเกณฑ์เบี้ยปรับใหม่ เหลือเพียง 7.5% ต่อปี เริ่ม 1 ต.ค.นี้ พ่วงเพิ่มค่าครองชีพทุกกลุ่มอีก 600 บาท/เดือน สตาร์ทปีการศึกษาหน้า
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผจก.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงมติคณะกรรมการ กยศ.ที่เห็นชอบกับมาตรการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กยศ. และช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้และปิดบัญชีในครั้งเดียว, 2.ลดเบี้ยปรับร้อยละ 75 เฉพาะผู้กู้ยืมเงินกลุ่มก่อนฟ้องคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) โดยทั้ง 2 กลุ่มมีผู้ได้รับสิทธิ 1.1 แสนคน และเริ่มวันที่ 1 ก.ย.62 – 29 ก.พ.63 พร้อมกัน
3.พักชำระหนี้ 1 ปี สำหรับผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะกลุ่มผู้กู้ยืมก่อนฟ้องคดี แยกเป็นกลุ่มผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี จะพักชำระหนี้ในงวดปี 63 และกลับมาชำระหนี้ ในวันที่ 5 ก.ค.64 ส่วนกลุ่มผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน จะพักชำระหนี้ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่ กยศ.อนุมัติ โดยระหว่างพักชำระหนี้จะไม่ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ พบว่ามีผู้ได้สิทธิพักชำระหนี้ 335,000 ราย ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ทาง www.studentloan.or.th/promotion ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.62 – 29 ก.พ.63
4.ปรับลดอัตราเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินกู้ยืมคืน จากอัตราปัจจุบัน (ร้อยละ 12-18 ต่อปี) เหลืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินที่ค้างชำระให้สามารถผ่อนชำระเงินคืนได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนงวดที่ผิดนัดชำระจนถึงวันที่ 30 ก.ย.62 ยังคิดอัตราเบี้ยปรับเท่าเดิม
และ 5.ปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกเดือนละ 600 บาท/คน โดยผู้กู้ยืมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ ปรับเพิ่มจาก 1,200 บาท เป็น 1,800 บาท ระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี ปรับเพิ่มจาก 2,400 บาท เป็น 3,000 บาท
ส่วนประเด็นข้าราชการการเมืองที่เป็นลูกหนี้ของ กยศ.นั้น นายชัยณรงค์ กล่าวว่า มีแต่ไม่มากนัก และส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจาก กยศ.ก่อนที่จะเข้ามาทำงานการเมือง แต่เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล จึงไม่สามารถให้รายละเอียดเป็นรายบุคคลได้ อีกทั้งคนกลุ่มนี้ ก็ยังคงได้รับสิทธิ์ในการผ่อนชำระหนี้คืน กยศ.ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15 ปี โดยยังไม่พบปัญหาการค้างชำระแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กยศ.มีเป้าหมายจะเพิ่มการหักบัญชีเงินเดือนของลูกหนี้ที่ทำงานในองค์กรต้นสังกัดกว่า 1 แสนองค์กรทั่วประเทศ ครอบคลุมหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ จากปัจจุบันที่มีราว 3 แสนคน เพิ่มเป็น 7 แสนคนในปี 63 และ 1 ล้านคนในปี 64 จากจำนวนลูกหนี้ทั้งหมดที่มีในปัจจุบันราว 1.2 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ คงมีลูกหนี้ กยศ. ในกลุ่มข้าราชการการเมือง รวมถึงกลุ่มบริษัทเอกชนอื่นๆ เข้ามาอยู่ในบัญชีหักเงินเดือนด้วย
“ที่ผ่านมา กยศ.มีรายได้จากการจัดเก็บเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ประมาณปีละกว่า 1,000 ล้านบาท แต่เพราะเราไม่ได้หวังจะหารายได้จากส่วนนี้ ดังนั้น การลดเบี้ยปรับ จึงไม่กระทบกับประมาณการรายได้เดิมแต่อย่างใด ส่วนการพักชำระหนี้เป็นเวลา 1 ปีนั้น น่าจะกระทบการรับรู้รายได้มากกว่า แต่ก็แค่เพียง 1 ปีเท่านั้น” นายชัยณรงค์ย้ำและว่า
จากการนำเสนอข่าว กยศ.ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสสังคมในกลุ่มลูกหนี้ กยศ. จนมีการติดต่อประสานงานผ่านทางโทรศัพท์มากถึงกว่า 50,000 สายต่อเดือน ทั้งนี้ ตนอยากร้องขอให้ลูกหนี้ที่ประสงค์จะติดต่อเพื่อชำระหนี้ หรือรับขอสิทธิ์ใดๆ ได้ใช้ช่องทาง LINE@กยศ. ที่จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้รองรับและคอยตอบทุกคำถามเอาไว้แล้ว
ปัจจุบัน กองทุนมีผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา 5,615,065 ล้านราย ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ 803,222 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,661,599 ราย ผู้กู้ที่ชำระเสร็จสิ้นแล้ว 1,093,041 ราย และอื่นๆ 57,203 ราย เป็นเงินงบประมาณให้กู้ยืมกว่า 605,354 ล้านบาท สำหรับผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 62 คาดว่าจะได้รับชำระหนี้ 30,000 ล้านบาท และขอยืนยันว่า ปีนี้ไม่มีการจำกัดโควต้าการให้กู้ยืมเงินสำหรับผู้กู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยทั้งหมดนี้ กยศ.ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นผลมาจากการชำระหนี้ที่ดีขึ้น และมาตรการหักเงินเดือน