พิษภัยแล้งเกษตรว่างงานเพิ่ม
ภัยแล้งกดดันการจ้างงานภาคเกษตรลดลง ทิ้งไปทำงานโรงงาน ก่อสร้างหารายได้ หนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มลดลง จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก อัตราการการดื่มแอลกอฮอล์ และการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก และการเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ต้องเกาะติดใกล้ชิด
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาส 3/2558 ระบุว่า การมีงานทำลดลง 0.2% เนื่องจากภาคการเกษตรมีการจ้างงานลดลงต่อเนื่อง 3.8% จากปัญหาภัยแล้ง แต่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.7% ดังนั้นในไตรมาส 3 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.92% เพิ่มขึ้นจาก 0.84% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
สิ่งที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ รายได้เกษตรกร และแรงงาน ทั้งรายได้ ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากปริมาณทั้งจากปริมาณผลผลิต และราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ขณะเดียวกันชั่วโมงการทำงานของแรงงานทั่วไปลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แนวโน้มการจ้างงานภาคเกษตรลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง และปริมาณน้ำเพื่อทำการเกษตรลดลง การเลิกจ้างงาน และการใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการย้ายฐานการผลิต ซึ่งต้องมีแนวทางการรองรับที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุมาก ซึ่งมักจะมีข้อข้อจำกัดในการติดตาม และเฝ้าระวังการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ในระหว่างการพิจารณาตัดสินขึ้นบัญชีดำการส่งออกอาหารทะเลของไทย หรืออนุมัติว่าไทยจะเป็นประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และปัญหาแรงงานทาส โดยจะมีการตัดสินในเดือนธ.ค.2558
จากผลการสำรวจ ภาวะเศรษฐกิจ และสังคมครัวเรือน พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ครัวเรือนเกษตรกรทั้งที่เป็นเจ้าของที่ดิน เช่าที่ดิน/ทำกิน ฟรี และคนงานเกษตร มีรายได้ลดลงร้อยละ 1.6 3.1 และ 3.2 ตามลำดับ ขณะที่ลูกจ้างประเภทคนงานทั่วไป และผู้ปฏิบัติงาน ในกระบวนการผลิต ลดลงร้อยละ 1.0 และ 0.6 ตามลำดับ
ทั้งนี้คาดว่ารายได้ครัวเรือนเกษตร และแรงงานทั่วไป จะยังลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 จากผลกระทบ ภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ดังจะเห็นได้จากในไตรมาสที่สาม ดัชนีราคา สินค้าเกษตรขายได้ลดลง 4.8% ต่อเนื่องจากครึ่งแรกของ ปีที่ลดลงเฉลี่ย 6.5% และดัชนีผลผลิตเกษตรลดลง 9.3% โดยผลผลิตข้าวลดลงมาก 55.9% การจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลด
ขณะเดียวกันการจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก และปริมาณ น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ลดลงมาก โดย ณ วันที่ 18 พ.ย.2558 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีเพียงร้อยละ 58 ของ ความจุอ่าง และปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงคิดเป็นเพียง 25% ของระดับน้ำเก็บกัก โดยเฉพาะปริมาณน้ำใช้ได้จริงในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเพียง 15% 19% และ 28% ตามลำดับของระดับน้ำเก็บกักเท่านั้น สะท้อนปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปมีน้อย ชี้แนวโน้มการจ้างงานภาคเกษตรลดลงต่อเนื่อง และอาจเป็นปัจจัยผลักให้แรงงานเกษตรโยกย้ายเข้าสู่การทำงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาก่อสร้าง บริการ และค้าส่งค้า ปลีก ซึ่งควรมีการเพิ่มทักษะแรงงานก่อนโยกย้ายไปสู่สาขาอื่น เพื่อให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย อาทิ มาตรการส่งเสริมความ เป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับ ตำบล โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับ ผลกระทบจากภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เมื่อมีการเบิกจ่ายงบประมาณ และการดำเนินงานภายใต้ มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่
ส่วนหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูงแต่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ และสังคมครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของ ปี 2558 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนมีรายได้ 27,545 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.1% และรายจ่ายของครัวเรือนเท่ากับ 21,818 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 6.4% และสัดส่วนรายจ่าย ต่อรายได้เท่ากับ 79.2% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 75.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2556
ขณะที่ครึ่งหลังของปี 2558 มีแนวโน้มที่จะชะลอลง แต่ยังต้องติดตาม และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนภาคเกษตร แต่ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลก็มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งมาตรการกองทุนหมู่บ้าน และการช่วยเหลือเกษตรที่มีปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะด้านสินเชื่อ
โดยสรุปภาพรวมสังคมไทยดีขึ้นทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินดีขึ้น ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงาน และขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การสร้างโอกาส และการยอมรับให้กับเด็ก และเยาวชนกระทำผิดเข้าสู่สังคม
อย่างไรก็ดียังมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเพื่อบรรเทาผลกระทบของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง หนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เพิ่มขึ้น อัตราการการดื่มแอลกอฮอล์ และการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกยังเพิ่มขึ้น รวมทั้งความจำเป็นในการเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา และเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัน