ไข้เลือดออกระบาดหนัก
ผ่านฤดูฝนมาไม่นาน แต่อย่าเพิ่งวางใจ หรือละเลยกับโรคติดต่อที่มากับหน้าฝน โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก นักแสดงชื่อดัง “ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์” และนักธุรกิจหนุ่ม ทายาทโบนันซ่า เขาใหญ่ สงกรานต์ เตชะณรงค์ ต้องแอดมิดเข้ารพ. เป็นการด่วน จากการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก
โดย “ปอ ทฤษฎี” อาการยังวิกฤติ ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงอาการป่วยของนักแสดงหนุ่ม โดยระบุว่า อาการยังอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ยังพอใจผลการรักษา หลังจากนี้ต้องติดตาม และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
ขณะที่ “สงกรานต์” ที่ล้มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเช่นกัน ขณะนี้อาการปลอดภัยดีเป็นปกติทุกอย่าง แพทย์รอดูอาการอยู่ หากดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก็พร้อมที่จะเดินทางกลับบ้านได้ แต่ตอนนี้ทางแพทย์ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะให้ออกจากรพ.
ในปลายฝนต้นหนาวต้องระวังโรคไข้เลือดออก ทั้งนี้สถานการณ์การป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยเกิดจากไวรัสเดงกี่ (Dengue Haemorrhagic Fever) มี 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงตัวเมียซึ่งกัดเวลากลางวัน และดูดเลือดคนเป็นอาหาร เมื่อกัดผู้ป่วยในระยะไข้สูงซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสเข้าไปอยู่ในตัวยุง ระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวมีเชื้อไปกัดคนจะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด มีระยะฟักตัวประมาณ 5-8 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ ขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ และไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.จนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยแล้วกว่า 100,000 ราย ขณะที่ในปี 2556 พบผู้ป่วย 150,000 ราย และในปี 2557 ลดลงประมาณ 40,000 ราย มักพบการระบาดปีเว้นปี กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เตรียมการป้องกัน เตือนประชาชน โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดที่เคยมีการระบาด เนื่องจากมีฝนตกเป็นระยะๆ เริ่มพบที่ภาคเหนือ และภาคกลาง เช่นที่ระยอง เพชรบุรี และ กทม. จากการประเมินสถานการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยแต่ละจังหวัดยังคงที่ มีบางพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
- ไข้สูงลอย 2-7 วัน
- มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
- มีตับโต กดเจ็บ
- มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว/ภาวะช็อก
อาการไข้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส และส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ในระยะไข้นี้อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆ ไป และอาจปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต
อาการเลือดออกพบบ่อยที่สุดคือที่ผิวหนัง จะมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามผิวหนัง สังเกตได้โดยการทำ tourniquet test
ตับโต ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่ม และกดเจ็บ ภาวะช็อกประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลวเกิดขึ้น
ด้านการรักษาขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการ และประคับประคอง การดูแลผู้ป่วยในระยะไข้สูง บางรายอาจมีการชักได้ถ้าไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน จำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเวลาที่ไข้สูงเท่านั้น
ให้ผู้ป่วยได้น้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียมด้วย ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือ สารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อยๆ และดื่มบ่อยๆ อย่างไรก็ดีจะต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบ และป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา