ครม.ต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี
แม้ว่าราคาน้ำมันในประเทศจะไม่ได้แพงทะลุ 50 บาทต่อลิตร เหมือนกับช่วงปี2551 แต่ผลการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ยังคงต่ออายุมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนต่อไปอีก 6 เดือน (พ.ย.58-เม.ย.59) ซึ่งมาตรการนี้ ได้เริ่มครั้งแรกในสมัยนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น รมว.คลัง
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.58 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2558 – 30 เม.ย.2559 โดยมีวงชดเชยรวมทั้งสิ้น 2,103 ล้านบาท พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
“มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ผ่านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทาง ขณะที่การเดินทางโดยรถไฟชั้น3 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวน ต่อวัน”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า“มาตรการรถเมล์ รถไฟฟรี ได้มีการต่ออายุมาตรการทั้งหมด18ครั้ง เพราะทุกรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยมากๆ อย่างแท้จริง คนมีรายได้มากควรจะต้องเสียค่าโดยสาร ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมรวบรวมข้อมูลได้ระดับหนึ่ง เพื่อเก็บข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยอยู่แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงจำเป็นต้องขยายเวลาของมาตรการออกไปก่อนเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนไปอีก6เดือน”
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงเรื่องมาตรการจัดระเบียบสังคม โดยประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและรายสูงรู้สึกพอใจ แต่กับประชาชนที่มีรายน้อยที่จะได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลจะเข้าดูแลช่วยเหลือ หลังการจัดระเบียบ เช่นเรื่องที่อยู่อาศัย สถานที่ค้าขายใหม่จะไปรอดหรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้การช่วยเหลือด้วยการใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน หรือที่ดินของการรถไฟที่มีอยู่ประมาณ 35,000 ไร่ แต่มีการใช้ประโยชน์แค่ 7,000 ไร่ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัดสรรที่ดินเหล่านี้ให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าหรือเช่าซื้อในราคาถูกได้หรือไม่