ลุยโปรโมท”ประชารัฐ”
หน่วยงานของรัฐ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เริ่มปฏิบัติการตามแผน “ประชารัฐ” ของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายให้ประชาชน และรัฐสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยปราศจาก “ประชานิยม” ที่เป็นคำฮิตติดปากคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
“ประชารัฐ” หมายถึง ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการของรัฐได้อย่างถูกใจ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยธนาคารออมสิน กล่าวในงานเปิดตัวโครงการตลาดประชารัฐ ภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานซึ่งประกอบด้วย สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง (สทบ.) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา
“เมื่อประชาชนไปทำบัตรประชาชน แต่มีคิวที่ต้องยืนรออยู่ยาวเหยียดก็สามารถลงชื่อ และนัดหมายกับพนักงานเพื่อขอทำบัตรประชาชนในช่วงที่มีเวลาว่างตรงกัน หรือธนาคารลดวงเงินผ่อนชำระหนี้จากเดิมเดือนละ 2,000 บาท เหลือเพียง 1,000 บาทเพื่อให้ลูกค้าอยู่ได้ โดยไม่ได้มุ่งหวังทางด้านกำไรสูงสุด” นายชาติชาย กล่าวถึงนิยามของประชารัฐ
ล่าสุดธนาคารออมสินก็มีโครงการประชารัฐ โดยตั้งวงเงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยวงเงิน 10,000 ล้านบาท คนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท สามารถกู้ได้ระหว่าง 300,000-600,000 บาท ผ่อนเดือนละ 1,000 บาท เป็นต้น
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการของ ธ.ก.ส. ระบุว่า ธนาคารดำเนินนโยบายประชารัฐมานานแล้ว เช่น การนำผลผลิตจากชุมชนมาเจอผู้ซื้อ ปัจจุบัน ธ.ก.ส.สามารถเป็นตัวกลาง ระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายสินค้าในชุมชนผ่านระบบ e- commerce โดยมียอดสั่งซื้อในปีที่แล้ว 56 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะมียอดราว 100 ล้านบาท โดยมีสินค้าราว 300 รายการจากชุมชนให้เลือก เช่น ข้าวหอมมะลิ, ผักอินทรีย์ เป็นต้น
ขณะที่นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการ สทบ. กล่าวว่า โครงการประชารัฐมีรูปแบบไม่แตกต่างไปจากกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง แม้ว่ากองทุนนี้ รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณหมู่บ้าน 1 ล้านบาทในครั้งแรก และครั้งที่ 2 อีกจำนวน 1 ล้านบาท และยังกู้เงินจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้อีก 1 ล้านบาท สำหรับกองทุนเกรดเอ และบี
แต่ในท้ายที่สุดคนที่บริหารกองทุนฯ ก็คือคณะกรรมการกองทุนซึ่งเป็นคนในชุมชนนั่นเอง เพราะคนเหล่านี้รู้จัก และคุ้นเคยกับชาวบ้านดีกว่ารัฐบาล ปัจจุบันกองทุนฯ มีทั้งหมด 80,000 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้ประมาณ 60,000 หมู่บ้านถูกจัดอยู่ในเกรดเอ และบี ส่วนที่เหลือเป็นเกรดซี 12,000 บาท และเกรดดีอีกประมาณ 7,000 แห่ง
กองทุนหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ภายหลังเศรษฐกิจไทยเกิดฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 โดยในปีแรก รัฐบาลทุ่มเงินสนับสนุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทจำนวน 80,000 หมู่บ้าน หรือใช้เงินไป 80,000 ล้านบาท ภายใต้กระแสวิจารณ์ต่างๆ นานา แต่จนถึงทุกวันนี้ มีหมู่บ้านประมาณ 72,000 หมู่บ้านที่ยืนอยู่ได้ และต้องปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากมีการโกงกินกันภายในประมาณ 7,000 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ขณะที่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท