PPP เปิดช่องต่อสัญญาเอกชนบริหารทางด่วน
บอร์ด PPP ชี้ โครงการต่อสัญญาเอกชนเข้าบริหารทางด่วนขั้นที่ 2 ไม่ขัดกฎหมาย เปิดช่อง “คมนาคม – กทพ.-BEM” ต่อสัญญาอีก 30 ปี
นายประภาศ คงเอียด ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า
ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 (1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. 2) เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณมูลค่าของโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. …. 3) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของที่ปรึกษา พ.ศ. …. และ 4) เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. …. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดแนวทางในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในแต่ละเรื่องให้เกิดความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบรายละเอียดของแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน (แผน PPP) และแนวทางการจัดทำ ปรับปรุง และติดตามผลการดำเนินการตามแผน PPPโดยมีความสอดคล้องกับแผนแม่บท ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคมของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาดำเนินการโครงการ PPP ของประเทศในภาพรวมต่อไป
อีกทั้ง ยังได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 20 (9) ในกรณีต่างๆ รวม 6 กรณี ได้แก่ 1) กรณีโครงการท่าเทียบเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2) กรณีการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน (อาคารกลุ่ม L) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) กรณีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงแรมชายทะเลของกรมธนารักษ์ 4) กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 5) กรณีการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด (OpenAccessNetwork) ให้ผู้ประกอบกิจการเชื่อมต่อเพื่อต่อยอดให้บริการไปยังบ้านเรือนประชาชนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ 6) กรณีโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังของการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยเฉพาะในส่วนของโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ที่มีปัญหากับเอกชน (บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM) และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคมว่าจะต่อสัญญาการบริหารโครงการฯให้กับเอกชนรายเดิมต่อไปอีก 30 ปีหรือไม่ โดยย้ำว่า คณะกรรมการ PPP จะพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อกฎหมาย ว่า ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 นั้น กรณีการจะทำนิติกรรมสัญญาใดๆ โดยไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องดำเนินการมาก่อนหน้าสิ้นสุดสัญญา 5 ปีนั้น สามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ได้พิจารณาตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯชุดที่มี นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นประธานฯ และเห็นว่า สามารถรดำเนินการได้ หากมีเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสม
โดยในส่วนที่กระทรวงคมนาคม หรือ กทพ.จะพิจารณาต่อสัญญาให้กับเอกชนรายเดิมหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการ PPP เพียงแต่ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP พิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายเท่านั้น.