ธนาคารโลกลดเกรดไทย
ธนาคารโลกลดเกรดไทย Doing Business จากอันดับที่ 46 ลดลง 3 ขั้นมาอยู่ที่ 49 แม้ทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของ “สมคิด” จะพยายามปรับปรุงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เพราะไทยหยุดนิ่งมานาน ขณะที่ประเทศอื่นๆ เร่งพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 28 ต.ค.58 นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย แถลงข่าวว่า ในปี 2559 ได้ปรับลดอันดับไทยจาก ลำดับที่ 46 เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 49 จากจำนวนทั้งหมด 189 ประเทศ
การแถลงข่าวของธนาคารโลกในครั้งนี้ เป็นการรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี2559 หรือ Doing Business 2016 โดยไทยถูกลดเกรดลงมาถึง 3 ขั้น จากเดิมอยู่ลำดับ 46 มาเป็นลำดับที่ 49 แต่ก็ยังอยู่ในโซนของ 50 ประเทศแรกของโลกที่มีความสะดวก และง่ายต่อการทำธุรกิจ
สำหรับการจัดทำรายงาน Doing Business 2016 ในครั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์นำมาเป็นที่ 1 ของโลก 10 ปีติดต่อกัน อันดับที่ 2 ได้แก่ นิวซีแลนด์ อันดับที่ 3 เดนมาร์ก อันดับ 4 เกาหลีใต้ อันดับที่ 5 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อันดับ 6 สหราชอาณาจักร อันดับ 7 สหรัฐอเมริกา อันดับ 8 สวีเดน อันดับ 9 นอร์เวย์ และอันดับ 10 ฟินแลนด์
ไต้หวัน ได้อันดับที่ 11 ออสเตรเลีย อันดับที่ 13 มาเลเซีย อันดับที่ 18 จีน อันดับ 84 อินโดนิเซีย อันดับ 109 และฟิลิปปินส์ อันดับที่ 103 โดยประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประเทศไทยอยู่ด้วยนั้นได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับ 2 ในกลุ่ม 20 ประเทศแรกในด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจรองจากภูมิภาคยุโรป
สำหรับสาเหตุที่ไทยถูกลดเกรดในครั้งนี้ เพราะการเข้าไปช่วยเหลือดูแลเอสเอ็มอียังไม่พอ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือการขอสินเชื่อทำได้ยาก ขณะที่ประเทศเพื่อบ้านปรับตัวดีขึ้น
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในการประกอบธุรกิจสำหรับนักลงทุนชาวไทย และชาวต่างชาติเหมือนเดิม แต่จำเป็น ต้องปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการประกอบการธุรกิจให้ดีขึ้น เพราะจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคต เนื่องจากไทยยังติดอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย” นายอูริค กล่าว และระบุว่า
“การประเมิน 10 ด้าน อันดับไทยรูดลง 6 ด้าน และมีด้านเดียวที่ดีขึ้น เช่น ความสะดวกในการขอสินเชื่อของเอสเอ็มอี การเข้าถึงข้อมูลเครดิตลูกค้าของสถาบันการเงินนับว่าของไทยได้คะแนน 0 การขอใบอนุญาตในการตั้งธุรกิจไทยยังใช้เวลามากกว่า 20 วัน ขณะที่ประเทศอื่นใช้เวลาลดลงแล้ว”
การขอใบอนุญาตในการก่อสร้าง กระบวนการยุติธรรมของเอสเอ็มอีเมื่อมีปัญหายังใช้เวลานานและไม่แน่ใจว่าได้รับความยุติธรรมจึงยังไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทำให้ประเทศไทยเหมือนกับนิ่งเฉยอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิภาคนี้ได้เร่งปฏิรูปหลายด้านจึงทำให้อันดับขยับเพิ่มขึ้นเช่น อินโดนิเซียได้นำระบบการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม และ อำนวยความสะดวกในการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ เวียดนาม ผู้ขอเงินกู้สามารถตรวจสอบเครดิตของตนเองได้ ธุรกิจขนาดเล็กในเวียดนามจึงขอกู้ง่ายขึ้น
เมียนมาได้มีการปรับปรุงเรื่องการจัดตั้งธุรกิจครั้งใหญ่ระดับโลก โดยการลดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทในประเทศ และปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานจัดตั้งธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้วิสาหกิจขนาดเล็กประหยัดเวลาได้มากขึ้น
บรูไนเดรุซาลามก็ได้มีการปฏิรูปขั้นตอนการจัดตั้งนิติบุคคลด้วยเช่นกัน ทำให้การใช้เวลาในการจัดตั้งธุรกิจลดลงเหลือเพียง 14 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 104 วันเมื่อปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงการดำเนินงานระบบออนไลน์
สำหรับการประเมินทั้ง 10 ด้าน มีด้านที่ประเทศไทยได้อันดับเพิ่มขึ้นเพียงด้านเดียวคือการขออนุญาตก่อสร้างจากอันดับ 47 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 39และคงอยู่ในอันดับเดิม 3 ด้าน คือการขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง
ส่วนอีก 6 ด้านที่ลดลง ประกอบด้วย ด้านที่ 1. การจัดตั้งธุรกิจใหม่ อันดับปีนี้อยู่ที่ 96 ลดลง 5 อันดับจากอันดับ 91 ในการจัดอันดับในปี 2558 ด้านที่ 2. ด้านการขอสินเชื่อ ลดลงมาอยู่อันดับที่ 97 จากอันดับที่ 90 ในปีที่แล้ว ด้านที่ 3.การปกป้องธุรกิจรายเล็ก ลดลงจากอันดับที่ 33 ในปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่อันดับที่ 36 ในปีนี้ ด้านที่ 4. ความสะดวกในการจ่ายภาษี ลดลงมาอยู่ในอันดับ70 จาก 62 ด้านที่ 5 การค้าระหว่างประเทศ ลดลงมา 1 อันดับอยู่ที่อันดับ56 จาก 55 และสุดท้านด้านที่ 6 การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ซึ่งปีนี้อยู่ในอันดับที่ 49 จากอันดับ 45 เมื่อปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามภายใต้การนำของทีมเศรษฐกิจของรองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ได้แต่งตั้งให้ รมว.คลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นหัวหน้าทีมในการดำเนินการเพื่อให้ไทยมี Doing Business มากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้เรียกประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ความคืบหน้าหลังจากเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 2 เดือนเศษ