สมคิด สั่ง BOI ออกแพ็คเกจแรง ดึงทุนนอกมาไทย
สมคิด สั่ง บีโอไอ ปรับการทำงานเชิงรุก เร่งออกแพ็คเกจส่งเสริมการลงทุน ดึงนักลงทุนที่กำลังย้ายฐานการผลิตหลังจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และให้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจดึงดูดการลงทุน ดันเข้าครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ 30 ส.ค.นี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและเป้าหมายในการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอ จัดทำแพ็คเกจส่งเสริมการลงทุน เพื่อชักจูงนักลงทุนที่กำลังต้องการย้ายฐานการผลิต หลังได้รับผลกระทบจาก สงครามการค้าโลก คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เศรษฐกิจเห็นชอบได้ในวันที่ 30 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ได้ให้ บีโอไอ ปรับบทบาทการทำงานเชิงรุก โดยให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน เชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจาก ไทยมีจุดเด่นเรื่องความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ที่จะเชื่อมกับภูมิภาคของไทยและ CLMV ดังนั้น บีโอไอจะต้องหาแคมเปญในการดึงดูดการลงทุน ให้เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละประเทศ ที่นอกเหนือจากเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ยังมีเรื่องของการอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และ ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
และล่าสุดได้หารือกับผู้บริหารของหัวเว่ย ของจีน ซึ่งได้แจ้งว่าประธานใหญ่ของหัวเว่ยจะเดินทางมาไทยในเดือน พ.ย.นี้ซึ่งจะเป็นบริษัทแรกๆที่จะเข้ามาทดสอบ 5 G ในไทย ขณะที่ไทยมีแผนจะส่งเสริมให้เกิดระบบ 5G ในปี 2563 ดังนั้นหัวเว่ยจึงขอให้ช่วยเร่งศึกษาเรื่องต่างๆรองรับให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมคิดยังได้มอบให้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) หาพื้นที่รองรับการลงทุน ที่มีแนวโน้มจะมีการย้ายฐานการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และให้บีโอไอจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจจากส่วนกลางและสำนักงานในต่างประเทศ เพื่อหารือกับบริษัทต่างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าเพื่อชักจูงให้ย้ายการผลิตมาประเทศไทย คาดว่าจะนำเสนอให้ทัน ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 30 ส.ค.นี้
ขณะที่ น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอจะดำเนินการจัดทำ 4 ด้าน 1. การจัดแพคเกจมาสนับสนุนดึงการลงทุนเพิ่มขึ้น 2.การจัดทีมงานเฉพาะกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนที่กำลังคิดจะย้ายฐานการผลิต 3. กิจการทางการตลาด 4.ลดขั้นตอนการอนุมัติและอนุญาต
โดยแพ็คเกจส่งเสริมที่จะจัดทำงานครั้งนี้จะเอื้อในการดึงการลงทุนเข้าอีอีซีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามแนวโน้มการย้ายฐานการลงทุนรายใหญ่ที่บีโอไอมีรายชื่ออยู่ในแผนเบื้องต้นที่จะดึงการลงทุนมีประมาณ 100 บริษัทส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนจากจีน
สำหรับ เป้าหมายขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 อยู่ที่ 750,000 ล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย.) มีการขอรับส่งเสริมการลงทุน 758 โครงการ มูลค่าลงทุน 232,610 ล้านบาทลดลง 17% เทียบกับปีก่อน ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) มีมูลค่าลงทุนรวม 147,169 ล้านบาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 109% โดยญี่ป่นยังเป็นนักลงทุนอันดับ1 คิดเป็น 29% ของมูลค่าลงทุน FDI ทั้งหมด