กสิกรชี้ไตรมาส 3 เศรษฐกิจโต 2.8%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด บ่งชี้จีดีพีไตรมาส 3/58 ขยายตัว 2.8%เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ล่าสุด ระบุว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ในเดือนส.ค.2558 ยังคงสะท้อนภาพการหดตัวของกิจกรรมในหลายๆ ภาคส่วนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตสินค้าเกษตรที่หดตัวลง (YoY) มากกว่าในเดือนก.ค. 2558 ขณะที่ มีเพียงเครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนบางรายการ (อาทิ การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทน และการนำเข้าสินค้าทุน) ที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนว่า สัญญาณบวกจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ยังคงไม่กระจายออกไปครอบคลุมเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาภัยแล้งภายในประเทศ และความอ่อนแอของกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ยังคงเป็นปัจจัยลบที่ลดทอนแรงหนุนจากการขยายตัวดีต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เป็นช่วงของการประคองโมเมนตัมการขยายตัว เพื่อรอความหวังจากมาตรการภาครัฐที่อาจจะเริ่มทยอยมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในภาคส่วนต่างๆ ยังเผชิญกับข้อจำกัดการฟื้นตัวที่แตกต่างกันออกไปในช่วงระหว่างเดือนก.ค.-ส.ค. 2558
โดยแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการใช้จ่ายของภาครัฐ จะยังคงขยายตัวในระดับสูงเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2558 แต่คงต้องยอมรับว่า แรงหนุนดังกล่าวก็ยังไม่อาจช่วยชดเชยผลด้านลบจากแรงฉุดของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ที่ต้องรับมือกับโจทย์กำลังซื้อที่อ่อนแอของประเทศคู่ค้า การลดต่ำลงของราคาสินค้าส่งออก และสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นใน ตลาดโลก) การหดตัวของผลผลิตทางการเกษตร (ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องมากดดันกำลังซื้อของครัวเรือนระดับฐานราก และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย) ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน ก็ยังคงมีกรอบการฟื้นตัวที่ไม่มาก เนื่องจากสัญญาณด้านอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ
สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณที่อ่อนแอและความล่าช้าในการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ สาขาที่สะท้อนผ่านเครื่องชี้ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2558 โดยเฉพาะการส่งออกที่ทรุดตัวลงแรงกว่าที่คาด รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลกในเดือนก.ย. 2558 ก็ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ถึงการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนนั้น น่าจะส่งผลกดดันให้ตัวเลขจีดีพีในช่วงไตรมาสที่ 3/2558 ขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะขยายตัวร้อยละ 2.8 YoY ต่ำลงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.0 YoY (เมื่อเดือนก.ค. 2558) ซึ่งย่อมจะทำให้มีโอกาสที่อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะชะลอลงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.9 YoY ที่ทำไว้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558
อย่างไรก็ดีโมเมนตัมและจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบในลักษณะไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558 น่าจะมีภาพเป็นบวกได้ชัดเจนขึ้นจากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุดที่เริ่มผลักดันตั้งแต่ในช่วงปลายไตรมาส 3/2558 และการเร่งการใช้จ่ายเม็ดเงินภายใต้งบประมาณและโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ