สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ก.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ จ.น่าน (199 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.มุกดาหาร (66 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (30 มม.) ภาคกลาง : จ.ชัยนาท (25 มม.) จ.ตราด (61 มม.) ภาคใต้ : จ.ชุมพร (62 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 29 ก.ค. 68 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 62% ของความจุเก็บกัก (49,562 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 44% (25,444 ล้าน ลบ.ม.)
3. พื้นที่ประสบอุทกภัย : สถานการณ์อุทกภัย วันที่ 27 ก.ค. 68 ในพื้นที่ 4 จ. 23 อ. ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เทิง ขุนตาล และพญาเม็งราย) จ.น่าน (อ.เมืองฯ ภูเพียง ปัว เชียงกลาง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ เวียงสา บ่อเกลือ บ้านหลวง และแม่จริม) จ.แพร่ (อ.เมืองฯ สอง เด่นชัย หนองม่วงไข่ สูงเม่น ลอง และวังชิ้น) และ จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง และสวรรคโลก)
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (27 ก.ค. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและร่วมหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน ณ ประตูระบายน้ำ DR.2.8 ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก และประตูระบายน้ำคลองหกบาท ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
จากการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำยม-น่าน ครั้งที่ 1/2568 ได้มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดการระบายน้ำลงอยู่ที่ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน ในช่วงวันที่ 26 – 30ก.ค. 68 และลดระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก เพื่อเร่งการระบายน้ำที่ไหลผ่านจากลำน้ำยมไปสู่ลำน้ำน่าน โดยขอให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนการเร่งการระบายน้ำโดยเร็วที่สุด เพื่อระบายน้ำไปให้ได้มากที่สุด ส่วนในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะลดลง ให้ กฟผ. ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำหลากระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนนี้
สำหรับการประชุมดังกล่าว สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามปริมาณน้ำและเตรียมการบริหารจัดการมวลน้ำ โดยระบายน้ำผ่านคลองยม-น่านและแม่น้ำยมสายเก่าส่วนหนึ่งและอีกส่วนได้ระบายน้ำไปยังแม่น้ำยมสายหลักผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้ไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดสุโขทัย รวมถึงเร่งการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำคอรุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายของแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน อีกทั้งเตรียมพื้นที่รองรับน้ำหลาก “โครงการบางระกำโมเดล” ซึ่งมีแผนจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ส.ค. 68 และจะสามารถใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำยมได้ในปริมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ในช่วงที่ยังไม่สามารถระบายน้ำเข้าทุ่งบางระกำได้ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันบริหารจัดการมวลน้ำจากภาคเหนือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 ก.ค. 68