สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 ก.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน (280 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.บึงกาฬ (86 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (5 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ระนอง (33 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (66 มม.) ภาคใต้ : จ.ชุมพร (134 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน ในขณะที่พายุโซนร้อน “วิภา” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว บริเวณแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก หนองคาย และบึงกาฬ
คาดการณ์ : วันที่ 24 ก.ค. 68 ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีลมแรง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนภาคเหนือ ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ช่วงวันที่ 25 – 28 ก.ค. 68 ประเทศไทยจะมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังอ่อนลง
2. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 59% ของความจุเก็บกัก (47,396 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 40% (23,280 ล้าน ลบ.ม.)
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (22 ก.ค. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 9/2568 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ สทนช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ที่ประชุมได้ติดตามสภาพอากาศของประเทศไทยที่จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” โดยคาดว่าจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากหลายแห่ง ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการเร่งพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อเตรียมพื้นที่ว่างสำหรับรองรับน้ำที่จะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งจะติดตามและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์น้ำในภาคเหนือที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งกำลังทยอยไหลมาบรรจบที่ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยกรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์แจ้งปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 700 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมควบคุมการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนและการขึ้นลงของน้ำทะเลที่จะหนุนสูงช่วงวันที่ 23 – 28 ก.ค. 68 นี้
สำหรับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย และลุ่มน้ำโขงเหนือ จ.เชียงราย สทนช. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำยม – น่าน จ.สุโขทัย เพิ่มเติม เพื่อเตรียมรับมือและแก้ไขสถานการณ์น้ำหลากและอุทกภัยในระดับพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุดังกล่าว รวมถึงปริมาณฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นนับต่อจากนี้ไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 ก.ค. 68