สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 ก.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน (141 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (103 มม.) ภาคกลาง : จ.สิงห์บุรี (58 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (141 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (36 มม.) ภาคใต้ : จ.สตูล (95 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่างและเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 7 – 8 ก.ค. 68 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 56% ของความจุเก็บกัก (45,444 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 37% (21,327 ล้าน ลบ.ม.)
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (2 ก.ค. 68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติต่าง ๆ โดยมี นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ได้แก่ จ.น่าน เชียงราย หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร เข้าร่วมการประชุม ณ กรมชลประทาน และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายเชิงรุกอย่างเต็มที่ในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับมือกับอุทกภัย วาตภัย และธรณีพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประเมินความเสี่ยง และเตรียมมาตรการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นและเก็บกักน้ำเป็นน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตรและกิจกรรมต่าง ๆ ในฤดูแล้งปี 2568/69 เพื่อใช้ในพร้อมมอบนโยบายให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและคาดการณ์พายุ ติดตามสถานการณ์น้ำและธรณีพิบัติภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าอย่างน้อย 2 – 3 วัน ตรวจสอบระบบเตือนภัยให้พร้อมใช้งาน เร่งแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขุดลอกลำน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างสะดวก เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ พื้นที่อพยพและศูนย์พักพิง และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในกรณีฉุกเฉิน ในส่วนของการฟื้นฟูและเยียวยา ให้เร่งสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้เร็วที่สุด พร้อมจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ โดยเน้นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบและไม่ซ้ำซ้อน และเน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
ทั้งนี้ สทนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยระหว่างเดือน ก.ค. – พ.ย. 68 และแจ้งให้รองนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมรับทราบ โดยจะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมความพร้อมตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด และประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำโขงล้นตลิ่งในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 68 สทนช. จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานและจังหวัดในพื้นที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเตรียมตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.หนองคาย ในช่วงกลางเดือน ก.ค. 68 นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 ก.ค. 68