สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 มิ.ย. 68

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.อุตรดิตถ์ (89 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.หนองคาย (105 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (41 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (83 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (29 มม.) ภาคใต้ : จ.ระนอง (137 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 23 – 27 มิ.ย. 68 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2. การคุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 56% ของความจุเก็บกัก (45,219 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 36% (21,134 ล้าน ลบ.ม.)
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (21 มิ.ย. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย จ.พะเยา โดยมี นายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ โครงการชลประทานจังหวัดพะเยา อ.เมืองพะเยา และลงพื้นที่ติดตามจุดเสี่ยงอุทกภัย บริเวณโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ประตูระบายน้ำกว๊านพะเยา (ประตูประมง) และฝายแม่อิงลูกที่ 2 (ฝายดอกบัว) พร้อมระบบส่งน้ำ ต.ท่าวังทอง อ.เมืองพะเยา
จากการประชุมหารือติดตามสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์พบว่าช่วงเดือน ส.ค. – ต.ค. 68 จ.พะเยา มีแนวโน้มฝนตกหนักต่อเนื่องใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน จ.พะเยา มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งที่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 70% ของความจุเก็บกัก รวมถึงคาดการณ์ว่าในช่วงเดือน มิ.ย. – ต.ค. 68 จะมีปริมาณน้ำไหลเข้ากว๊านพะเยาประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. จะส่งผลให้กว๊านพะเยามีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกัก หน่วยงานจึงจำเป็นต้องเร่งทบทวนและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำของกว๊านพะเยาและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ โดยการเร่งระบายน้ำเพื่อให้มีพื้นที่ว่างเพียงพอสำหรับรองรับน้ำหลากช่วงเดือน ส.ค. – ต.ค. 68 และรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ จ.พะเยา ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับศูนย์พักพิง ซึ่งเป็นการเตรียมแผนอพยพสำหรับกลุ่มเสี่ยงให้ออกจากพื้นที่เสี่ยงมายังศูนย์พักพิงก่อน รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่ นอกจากนี้ สทนช. ได้ประสานสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ติดตั้งสถานีตรวจวัดน้ำบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อให้มีข้อมูลเพิ่มเติมในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนทันสถานการณ์ และเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสถานีโทรมาตรและอาคารชลศาสตร์เร่งดำเนินการซ่อมแซมส่วนที่ยังไม่พร้อมใช้งานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับสิ่งกีดขวางทางน้ำของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ได้มีการเปิดช่องเพื่อระบายน้ำเรียบร้อยแล้ว พร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ ทั้งนี้ สทนช. จะประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัย ให้สามารถดำเนินการในเชิงป้องกันได้ล่วงหน้า และสามารถลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 มิ.ย. 68