สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 พ.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงใหม่ (138 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ร้อยเอ็ด (103 มม.) ภาคกลาง : จ.สิงห์บุรี (55 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ระยอง (111 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ราชบุรี (80 มม.) ภาคใต้ : จ.พังงา (133 มม.)
วันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 28 – 31 พ.ค. 68 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากในภาคเหนือ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 27 – 30 พ.ค. 68 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน จะมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศบังคลาเทศ
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกัก (44,246 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 35% (20,087 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด จำนวน 1 แห่ง ดังนี้ ภาคเหนือ : อ่างเก็บน้ำแม่จาง
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 80% จำนวน 32 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคใต้ 6 แห่ง
ทั้งนี้ สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมแผนรองรับปริมาณน้ำ ที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาและลดความเสี่ยงเกิดอุทกภัยในพื้นที่
3. สถานการณ์อุทกภัย : สถานการณ์อุทกภัย วันที่ 25 พ.ค. 68 ในพื้นที่ 6 จังหวัด 8 อำเภอ 3 เขต (ข้อมูลจาก ปภ. และ สทนช.) ได้แก่ จ.ตาก (อ.บ้านตาก และแม่สอด) จ.อุทัยธานี (อ.เมืองอุทัยธานี) กรุงเทพมหานคร (เขตบางเขน จตุจักร และหลักสี่) จ.นนทบุรี (อ.เมืองนนทบุรี และปากเกร็ด) จ.กระบี่ (อ.เกาะลันตา และลำทับ) และ จ.ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต) ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยเข้าสู่สภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 68 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 14 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการด้านน้ำจากผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นอย่างมาก ถือเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยมอบหมายให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อย่างเคร่งครัด และเตรียมแผนเผชิญเหตุสำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือพื้นที่เปราะบางอย่างเข้มข้น โดยมีการวางแผนใช้กลไกของศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยร่วมกับกลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ในการบูรณาการข้อมูลและติดตามการแก้ไขปัญหาเพื่อสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และมอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามสถานการณ์น้ำและบริหารน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยให้สามารถรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป
ทั้งนี้ สทนช. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประสานการปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 พ.ค. 68