กรมสรรพากร จับตา 4 ธุรกิจหวังรีดภาษีเข้าเป้า

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพกากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรวางแผนที่จะกวดขันธุรกิจ 4 กลุ่ม ประกอบด้วยธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจกลางคืน ธุรกิจซื้อมาขายไปที่ใช้เงินสด และธุรกิจร้านขายยา ซึ่งตามปกติ กรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่สำรวจธุรกิจในทุกสองปี แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ดำเนินการ
ในปีงบประมาณ2568 ที่จะสิ้นสุดภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ กรมสรรพากร ได้รับมอบเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 2.372 ล้านล้านบาท คิดเป็นราว 82% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ (ต.ค.67-เม.ย.68) กรมจัดเก็บภาษีได้รวม 1.138 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 17,900 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 47,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากประเมินในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ2568 หรืออีก 5 เดือน ก็สิ้นปีงบประมาณในเดือนก.ย.2568 ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร อาจต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม กรมจะพยายามทำให้ผลการจัดเก็บภาษีในปีนี้ ให้ต่ำกว่าเป้าหมายไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยประเมินไว้ว่า กรมสรรพากร อาจจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมายราว 36,000 ล้านบาท
นายปิ่นสาย กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้กรมจัดเก็บภาษี68 ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย มาจากรายได้จากภาษีปิโตรเลียม ที่คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย ประมาณ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจปิโตรเลียมได้นำผลขาดทุนสะสมมาหักออกจากรายได้ ทำให้เสียภาษีน้อยลง
เช่นเดียวกันกับธุรกิจสถาบันการเงิน ที่แม้ว่าจะแสดงผลกำไรค่อนข้างจะสูง แต่มีการจ่ายภาษีน้อยลงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากสถาบันการเงินมีการวางแผนภาษี โดยนำผลขาดทุนสะสมมาใช้ในปีนี้
ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี2568 ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งในประเทศมีผลกำไรรวม 68,300 หล้านบาท สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า 12.09%
เขากล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2026 กรมสรรพากร ได้รับเป้าหมายการจัดเก็บภาษีเพิ่มสูงขึ้นกว่าเป้าของปี 2025 อีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่กรมจะต้องบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
“ที่ผ่านมากรมได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ 4-6ตัว เพื่อเพิ่มรายได้ เช่น ภาษีที่เก็บจากคนที่เดินทางไปต่างประเทศ หรือแม้แต่การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผลการศึกษาดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล” นายปิ่นสาย กล่าวและกล่าวว่า
ในส่วนของแนวคิดของ รมว.คลัง ที่เสนอให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT สำหรับธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทนั้น นายปิ่นสาย กล่าวว่า ก็อยู่ในระหว่างการศึกษาของกรม
ทั้งนี้ในปี2535 ซึ่งเป็นปีที่ กรมฯ เริ่มใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย กรมสรรพากร กำหนดรายได้ธุรกิจตั้งแต่ 120,000 บาทต่อปี จะต้องเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 120,000 บาท จนถึง 600,000 บาทต่อปี ให้เสียภาษีแบบเหมาจ่ายที่ 1.5 % โดยไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายได้ อย่างไรก็ตาม ในภายหลังได้มีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเหมาจ่ายดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่เก็บภาษีแบบเหมาจ่าย กรมจัดเก็บได้ราว 400 ล้านบาท/ปีเท่านั้น
“หากนำระบบภาษีแบบเหมาจ่ายดังกล่าวมาใช้ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จนถึง 600,000 บาทต่อปี เสียภาษีแบบเหมาจ่าย กรมประเมินว่าจะมีรายได้ราว 6,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรรพากรเก็บรายได้ 7 เดือน เกินเป้า 1.7 หมื่นล้านบาท