สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 พ.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.พิษณุโลก (71 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา (91 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (62 มม.) ภาคกลาง : จ.กรุงเทพมหานคร (75 มม.) ภาคตะวันออก : จ.สระแก้ว (55 มม.) ภาคใต้ : จ.ภูเก็ต (96 มม.)
วันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 14 – 17 พ.ค. 68 บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว ประกอบกับจะมีลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
2. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกัก (44,630 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 35% (20,422 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด จำนวน 1 แห่ง ดังนี้ ภาคเหนือ : อ่างเก็บน้ำแม่จาง
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 80% จำนวน 34 แห่ง ดังนี้
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
4. มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 : สทนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ดังนี้ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของระบบระบายน้ำในพื้นที่วิกฤติ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักและผลกระทบจากน้ำท่วมขังในพื้นที่ ดังนี้
1. ระบบระบายน้ำคลองบางซื่อ โดยดำเนินการเร่งระบายน้ำจากคลองบางซื่อผ่านอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่รองรับการระบายน้ำได้สูงสุด 60 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันระดับน้ำในคลองบางซื่อเข้าสู่ระดับควบคุมที่กำหนดไว้ และยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
2. สถานีสูบน้ำคลองทรงกระเทียม (ตอนคลองจั่น) มีหน้าที่ระบายน้ำจากพื้นที่ถนนลาดพร้าว 87 ถนนนาคนิวาส และถนนโชคชัย 4 โดยสูบน้ำจากคลองทรงกระเทียมเข้าสู่คลองจั่น คลองแสนแสบ และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-คลองลาดพร้าว มีอัตราการสูบน้ำ 9 ลบ.ม./วินาที ซึ่งได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกำจัดเศษขยะและวัชพืชภายในคลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการอุดตันในระบบระบายน้ำ
3. แก้มลิงบึงลำพังพวย ตั้งอยู่ในพื้นที่การเคหะแห่งชาติ เขตบึงกุ่ม สามารถเก็บกักน้ำได้ 200,000 ลบ.ม. รองรับน้ำจากคลองลำพังพวย และพื้นที่เขตบึงกุ่ม ปัจจุบันได้ดำเนินการสูบน้ำออกจากบึงลำพังพวยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณน้ำในแก้มลิงให้พร้อมรับน้ำฝนที่อาจจะมีเพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 พ.ค. 68