คลังระดมสมองจัดทัพรับมือภาษีทรัมป์

“พิชัย” ระดมสมองรับศึกภาษีทรัมป์ จัดงบกลาง 1.57 แสนล้านใหม่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนจะดึ่งเหว
นายพิชัย ชุณหวิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ ตนในฐานะประธานคณะกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อทบทวนมาตรากระตุ้นภายใต้วงเงิน 157,000 ล้านบาท ที่อยู่ในงบกลางของงบประมาณรายจ่ายปี2568 ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นเงินที่รัฐบาลได้กันเอาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แต่เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จากนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ไทยถูกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่ม 36%
“ตอนนี้ ยังตอบอะไรไม่ได้ แต่เรารับทราบว่า ต้องเตรียมความพร้อม หรือจัดทัพ จัดโครงสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่ ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น”
นายพิชัย กล่าวว่า หลังจากนั้น กระทรวงการคลังต้องทบทวนว่า แหล่งเงินงบประมาณจำนวน 157,000 ล้านบาท เพียงพอหรือไม่ ความจำเป็นในการกู้เงิน หรือไม่ต้องกู้เงิน เนื่องจากเป็นวิกฤติหรือไม่ นอกจากนี้ ยังจะ ต้องใช้เครื่องมือของธนาคารเฉพาะกิจในการปล่อยสินเชื่อ หรือใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย ขณะที่ ภาคการคลังนั้น ต้องพิจารณาหาทางขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล รวมถึงการพิจารณาลดการขาดดุลงบประมาณ
ด้านการเกษตร จะต้องมีการทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งน้ำเพื่อเกษตรกรรม และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รวมถึงพิจารณาแผนการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวโพด ที่เรามีความต้องการใช้ปีละ 4.5 ล้านตัน ขณะที่ข้าวโพด ก็เป็นสินค้าที่จีนต้องการด้วย
“ถ้าสหรัฐส่งไปขายจีนน้อยลง จีนก็ต้องขาดแคลนสินค้าบางชนิด ซึ่งตนจะต้องเข้าไปสำรวจ เพื่อหาทางส่งสินค้าไปขายจีนเพิ่มขึ้น” นายพิชัย กล่าว นอกจากนี้ เราอาจต้องหาทางปลูกพืชบางชนิดเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น ข้าวสาลี
เขากล่าวว่า ปตท.ได้ลงนามในสัญญาซื้อ LNG จากสหรัฐแล้ว 1 ล้านตัน และมีแผนที่จะซื้อเพิ่มเติมอีก 1.2 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ตนกำลังคิดที่จะผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้แหล่งเชื้อเพลิงจาก ธรรมชาติ เช่น หญ้าเนเปียร์และข้าวโพด ซึ่งนอกจากจะทำให้ซื้อธรรมชาติในอนาคตลงแล้ว ราคาก๊าซที่ได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวล ต้นทุนจะอยู่ที่ 3.50 บาท/หน่วย ต่ำกว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติเล็กน้อย แต่จะได้รับผลพลอยได้ คือ ปุ๋ย ซึ่งหากเราใช้วัตถุดิบที่ผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล 40,000 ตัน จะได้เศษซากที่เป็นปุ๋ย ราว 70 % หรือ 28,000 ตัน ซึ่งสามารถขายในราคาถูกให้กับเกษตรกรได้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเชิญภาคเอกชน จากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ มาหารือด้วย เพื่อระดมสมองและวางแผนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : KTB เผย กนง. ลดดอกเบี้ย หวั่นภาษีทรัมป์กระทบเศรษฐกิจแรง