ธนารักษ์แจงเหรียญ 10 บาทไม่ใช่ทองเหลือง อย่ามั่วนิ่ม

กรมธนารักษ์ขอชี้แจงข่าวกรณีการนำเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา 10 บาท ไปปลอมแปลงและเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย
ณ กรมธนารักษ์ นายบุญชอบ วิเศษปรีชา โฆษกกรมธนารักษ์ ชี้แจงกรณีที่ปรากฏคลิปที่แชร์กันในโลกโซเชียลที่ได้แสดงถึงการนำเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 10 บาทจำนวนหนึ่ง ไปทำเป็นแหวนและสร้อยคอ โดยกล่าวว่าเป็นโลหะวงในของเหรียญ 10 บาท ซึ่งอ้างว่าเป็นทองเหลือง นำไปผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามคลิปเพื่อขึ้นรูปเป็นแหวนและสร้อยคอ และอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านนั้น กรมธนารักษ์ได้ทำการตรวจสอบคลิปดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้นขอเรียนดังนี้


1. โลหะที่ใช้ผลิตวงในของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ชนิดราคา 10 บาทที่ผลิตโดยกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ไม่ใช่ทองเหลือง แต่เป็น “อลูมิเนียมบรอนซ์” มีอัตราส่วนผสม ทองแดง 92% นิกเกิล 2% อลูมิเนียม 6% เป็นเหรียญโลหะเนื้อเดียว (ไม่ผ่านการชุบ) สามารถนำไปผลิตในรูปแบบอื่น ๆ ได้ ขณะที่ทองเหลืองนั้น มีอัตราส่วนผสมหลักจะเป็นทองแดงและสังกะสีเป็นหลัก ไม่มีส่วนผสมของนิกเกิลและอลูมิเนียม


2. การปลอมแปลงเหรียญกษาปณ์ มีความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตราเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี” และตามมาตรา 35 “ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ”
3. ประมวลกฎหมายอาญา(และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ลักษณะ 7 ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและแปลง หมวด 1 ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา มาตรา 240 -249 ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ
4. ปัจจุบันปริมาณการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 10 บาท มีเหรียญหมุนเวียนในระบบเศรฐกิจ ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 จำนวน 2,992.9 ล้านเหรียญ ผลผลิตเหรียญปีงบประมาณ 2567 จำนวน 40 ล้านเหรียญ จำนวนเหรียญคงเหลือจ่ายแลกได้ถึงเดือนมิถุนายน 2570 จำนวน 208.8 ล้านเหรียญ ซึ่งเพียงพอต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม


กรมธนารักษ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำในคลิป และหากผู้ใดพบเห็นหรือได้เบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งกรมธนารักษ์ได้ที่ Call Center 0 2059 4999 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ธนารักษ์ รื้อสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ