สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 เม.ย. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และวันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมา ปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้ ทำให้มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 28 เม.ย.- 1 พ.ค. 68 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้จะยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (46,162 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 38% (21,950 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 14 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่มอก และทับเสลา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคองลำนางรอง และสิรินธร
ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ และกระเสียว
ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล คลองสียัด และนฤบดินทรจินดา
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 96 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 55 แห่ง
ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (27 เม.ย. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ในพื้นที่เสี่ยงของลุ่มน้ำชี ณ เขื่อนลำปาว ต.ลำปาว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
สำหรับการลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในครั้งนี้ เพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำเขื่อนลำปาว พร้อมทั้งเร่งดำเนินการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้พร้อมรับมือในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ โดยให้อ่างเก็บน้ำสามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในช่วงเดือนเมษายน 2568 มีแผนการระบายน้ำอยู่ที่ 235 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำไปแล้ว 189 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าแผน 46 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง สทนช. ได้จัดทำหนังสือถึงกรมชลประทานเพื่อพิจารณาการระบายน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำตามมติ กนช. แล้ว
ทั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. ได้มีข้อสั่งการให้ สทนช. ร่วมกับกรมชลประทาน ปรับการดำเนินงานของแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำลำปาวที่ยังไม่สามารถระบายน้ำได้ตามแผน เนื่องจากข้อจำกัดด้านท้ายน้ำ ที่ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำตามที่วางแผนได้ อาจจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำบ้านดอนสนวน ต.หลุบ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 9,000 ไร่ ให้เป็นกลไกหนึ่งในการรองรับปริมาณน้ำที่ระบาย โดยอาศัยคณะกรรมการลุ่มน้ำและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้การดำเนินการบรรลุผลตามแผน รวมทั้งให้นำข้อมูลการปรับระดับจุดสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และปรับแผนการปิด-เปิดประตูของเขื่อนปากมูลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายในพื้นที่และระดับน้ำในแม่น้ำโขง รวมทั้งข้อมูลการแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำท้ายเขื่อนต่างๆ ในแม่น้ำชี เพื่อวิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหา และเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป
นอกจากนี้ สทนช. ยังได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อย่างต่อเนื่อง และจากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน พ.ค. 68 พื้นที่ลุ่มน้ำชี เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดสถานการณ์น้ำท่วม น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จำนวน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ โดย สทนช. ได้จัดส่งข้อมูลพื้นที่เสี่ยงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ และ สทนช.ภาค 3 เพื่อใช้สำหรับเตรียมความพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ รวมทั้งการติดตามการปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำชี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 เม.ย. 68