สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 เม.ย. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้ ทำให้มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 27 –28 เม.ย..68 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้ ทำให้มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด กับจะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อน สำหรับภาคใต้จะมีลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 58% ของความจุเก็บกัก (6,422 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 39% (22,212 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% จำนวน 14 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่มอก และทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคองลำนางรอง และสิรินธร ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ และกระเสียว ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล คลองสียัด และนฤบดินทรจินดา
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 93 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 52 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. การดำเนินการตามมาตรการ : สทนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2568 โดย สทนช.ภาค 4 ได้ลงพื้นที่ อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง พบว่ามีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมสำหรับใช้งาน ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ระบบระบายน้ำ ระบบโทรมาตร และบุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนได้ทันท่วงที
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 68 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี 2568 มอบหมายให้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และผู้แทน สทนช. เข้าร่วมงานกล่าวสุนทรพจน์แม่โขง ครั้งที่ 4 และร่วมฉลองครบรอบ 30 ปี การจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม) เอกอัครราชทูต หุ้นส่วนการพัฒนา หัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยได้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคภายใต้ความตกลงแม่น้ำโขงปี 1995 ที่ดำเนินมากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือ การพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม และมาตรการลด/บรรเทา ผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาบนลุ่มน้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมเน้นบทบาทของ MRC ในการเป็นเวทีทางการทูตน้ำและแหล่งองค์ความรู้ โดยเน้นความจำเป็นของนวัตกรรม เทคโนโลยี และธรรมาภิบาลที่ดีในการเผชิญกับความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และการเตรียมพร้อมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 เม.ย. 68