ธนารักษ์ รื้อสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ

“เอกนิติ”วางแผนเพิ่มค่าเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ 20% หวังโกยรายได้เพิ่ม พร้อมจับมือ GISTDA สำรวจที่ราชพัสดุหวังปรับราคาประเมินสอดคล้องตลาด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้ กรมธนารักษ์ ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ หรือ Return on Asset : ROA เพื่อเพิ่มรายได้จากการเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ ให้มีราคาสูงขึ้น 20% หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์ในการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทรัพย์สินของแผ่นดิน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและวัฒนาธรรม
“ในช่วง 5 เดือนของปีงบประมาณ2568 (ต.ค.67-ก.พ.ค) กรมจัดเก็บรายได้แล้ว 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การจัดเก็บรายได้จากค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเชิงพาณิชย์ 10,600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้จัดเก็บได้แล้ว เกือบหมื่นล้านบาท และรายได้จากเหรียญกษาปณ์อีก 400 ล้านบาท ทำให้กรม จัดเก็บรายได้สูงกว่าปีก่อน 13% และสูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ 9.2%”
สำหรับ สาเหตุสำคัญที่ทำให้กรมฯ มีรายได้สูงขึ้น เนื่องจากมีสัญญาเช่าที่ดินของประชาชา ครบกำหนดจ่ายค่าเช่าที่ดิน ระยะเวลา 3 ปีในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีรายรับสูงขึ้น ส่วนที่เช่าเชิงพาณิชย์ที่หมดสัญญาหรือที่กำลังจะหมดสัญญา จะมีการปรับขึ้นค่าเช่า เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่ง ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการปรับสัญญาไปแล้วกับท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.และโรงกลั่นบางจาก

นอกจากนี้ ยังมองว่า การทบทวนสัญญาเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ จะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้กรมธนารักษ์ สามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีที่ดินราชพัสดุ 12.6 ล้านไร่ โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคง 2.6 ล้านไร่ และอีก 10.48 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ส่วนราชการครอบครอง ซึ่งในส่วนนี้มีพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ ที่ยังไม่มีการบริหารให้มีประสิทธิภาพ ก็จะมีการเข้าไปดูเพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องมีการวางยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ในการดำเนินการ เพื่อให้มีการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบ AI เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงจะมีการประสานข้อมูลกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อสำรวจที่ดินเพื่อให้การประเมินราคามีความแม่นยำมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมฯ ตั้งเป้าหมายในการใช้ AI และระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมกระบวนการประเมินราคาที่ดิน ในที่ดินต้นแบบ 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครนายก และกรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนก.ย.68 หลังจากนั้นจะทยอยใช้ให้ครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
“ปัจจุบัน ราคาประเมินที่ดิน กับราคาตลาดยังมีช่องว่างสูงสุด 30-40% กรมฯ ได้พยายามปรับปรุงราคาประเมินให้ความใกล้เคียงกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของราคาที่ดินให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ธนารักษ์ เดินหน้ามอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุตามโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ ณ จ.กาญจนบุรี